โครงการ “รักษ์ ปัน สุข” ของบางจากฯ คว้ารางวัล Circular Economy Leadership จากเวทีระดับภูมิภาคเอเชีย Asia Responsible Enterprise Awards 2020

โครงการ “รักษ์ ปัน สุข” ของบางจากฯ ได้รับรางวัล Asia Responsible Enterprise Awards 2020 หรือ AREA 2020 ประเภท Circular Economy Leadership จาก Enterprise Asia ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานด้านการสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “เมื่อเร็วๆ นี้โครงการ “รักษ์ ปัน สุข” ของบางจากฯ ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยลดขยะต้นทางด้วยการรวบรวมขวดน้ำดื่ม PET ใช้แล้วจากลูกค้าและผู้บริโภคไปรีไซเคิล ได้รับรางวัล Asia Responsible Enterprise Awards 2020 หรือ AREA 2020 ประเภท Circular Economy Leadership จากสถาบัน Enterprise Asia”

“กลุ่มบางจากฯ มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UNSDGs) โดยยึดแนว BCG Economy Model สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่การพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน โดยเน้น Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) มุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นกรอบใหญ่ ครอบคลุม Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และ Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด”

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเฉลี่ยปีละประมาณ 2 ล้านตัน แต่นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้เพียงปีละประมาณ 5 แสนตัน บางจากฯ จึงได้จัดทำโครงการ “รักษ์ ปัน สุข” เพื่อช่วยลดขยะพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use plastics) ด้วยการนำไปรีไซเคิล และนำเส้นใยที่ได้ไปผลิตเป็นวัสดุเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น ผลิตหมวกมอบให้เจ้าหน้าที่ด้านรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะของกทม. ทั้ง 50 เขต เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่ดูแลรักษาความสะอาดในเมืองพัทยา รวมถึงอาสาสมัครหน่วยปฏิบัติการต่อต้านขยะทะเลนำไปใช้งาน รวมจำนวนกว่า 12,000 ใบ และผลิตผ้ากันเปื้อนและหมวกมอบให้กับผู้พิการที่ปฏิบัติงานในร้านกาแฟ 60+ Plus Bakery & Chocolate Cafe ภายใต้การดูแลของมูลนิธิ APCD ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก”

“ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการ “รักษ์ ปัน สุข” ได้รับรางวัลนี้ เป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน BCG Economy Model ของกลุ่มบางจากฯ ซึ่งเราได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในทุกกระบวนการธุรกิจของบริษัทฯ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การริเริ่มใช้แก้วย่อยสลายได้ 100% และไม่ใช้หลอดที่ร้านกาแฟอินทนิล รวมถึงการจัดทำโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วม เช่น รักษ์ ปัน สุข และแก้วเพาะกล้า ขอขอบคุณ Enterprise Asia สำหรับรางวัลนี้ครับ” นายชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ ยังเป็นหนึ่งในคนไทย 2 คนแรกที่ได้รับรางวัลประเภท Responsible Business Leadership จาก Enterprise Asia ในงานเดียวกัน จากผลงานโดดเด่นในการนำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวมาปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบางจากฯ สู่ความเป็นกลุ่มธุรกิจผู้นำนวัตกรรมสีเขียวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยยังยึดมั่นพันธกิจในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำธุรกิจอีกด้วย

———————————————————————————————————-

เกี่ยวกับบางจากฯ

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจผู้นำนวัตกรรมสีเขียวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ดำเนินงานใน 5 ธุรกิจหลักคือ 1) กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน เป็นโรงกลั่นแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัย 2) กลุ่มธุรกิจการตลาด ช่องทางหลักในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายสถานีบริการของบริษัทฯ กว่า 1,200 แห่ง เสริมด้วยธุรกิจ Non – oil ผ่านธุรกิจต่างๆ เช่นกาแฟอินทนิล น้ำมันหล่อลื่น Furio เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน 3) กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ผ่านการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของบมจ. บีซีพีจี ประกอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พิภพและน้ำ ในประเทศไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาว 4) กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ. บีบีจีไอ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 5) กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ธุรกิจปิโตรเลียม ผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ผู้พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในประเทศนอร์เวย์ และธุรกิจเหมืองลิเทียม ผ่านการถือหุ้นใน Lithium Americas Corp. (LAC) ผู้ประกอบธุรกิจเหมืองลิเทียมในประเทศอาร์เจนติน่าและสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เพื่อสร้างระบบนิเวศน์สำหรับนวัตกรรมสีเขียว (Green Ecosystem) ส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมที่สนับสนุนการก้าวกระโดดของพลังงานสีเขียวและผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศต่อไป