พาณิชย์เปิดตัวโครงการนำร่อง ใช้ Blockchain ช่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา

วันที่ 8 ตุลาคม 2561 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ร่วมกับ นางสาวนุสรา กาญจนกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นางสาวมาร์กาเร็ต ทังส์ อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาต้นแบบ  การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา”

          บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย จัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ไม่ต้องผ่านคนกลางรายหนึ่งรายเดียว โดยสามารถดำเนินการผ่านเงื่อนไขสัญญาอัตโนมัติ (สมาร์ทคอนแทค) ที่กำกับการทำงานให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนในบล็อกเชนทำตามเงื่อนไขสัญญาโดยไม่ต้องมีคนกลาง ดั้งนั้น บล็อกเชนจะช่วยยกระดับการจดทะเบียน คุ้มครอง และส่งเสริมการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาสู่เชิงพาณิชย์ ในยุคดิจิทัลให้มีความโปร่งใส รวดเร็ว ปลอดภัย สะดวก เชื่อถือได้ และมีประสิทธิภาพสูง

 

          นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวเพิ่มเติมว่า บล็อกเชนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ในกระบวนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ต้องมีการตรวจสอบว่าผู้ขอเป็นผู้สร้างสรรค์หรือประดิษฐ์ผลงานเป็นคนแรก ทำให้ใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้น หากเก็บข้อมูลบนบล็อกเชนก็จะทำให้การตรวจสอบรวดเร็วขึ้น และ  การบันทึกสิทธิผู้เป็นเจ้าของและวันเวลาในบล็อกเชนสามารถใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้ สามารถบริหารสิทธิผ่านสมาร์ทคอนแทค เช่น การทำสัญญาอนุญาตใช้ผลงานลิขสิทธิ์ ผู้ใช้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เจ้าของผลงาน โดยระบบจะโอนเงินเข้าบัญชีเจ้าของสิทธิให้อัตโนมัติตามบัญชีที่เจ้าของสิทธิผูกไว้กับระบบ เป็นต้น   

          สนค. ได้รับการสนับสนุนทุนจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช เป็นที่ปรึกษาโครงการ โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องระหว่างหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในอนาคตอาจขยายไปทำโครงการร่วมกับหน่วยงานภายนอก

          โครงการนี้จะทบทวนกรณีศึกษาการใช้บล็อกเชนในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนทบทวนกฎหมายและกระบวนการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของไทย รวมถึงการสัมภาษณ์และแสวงหาความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

          ผลลัพธ์จากโครงการศึกษานี้ จะนำไปสู่การสร้างกระบวนการทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนถูกลง ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องและบังคับใช้สิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย

อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่าประเทศอังกฤษมีความยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับ     กระทรวงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนประเทศไทยในเรื่องนี้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความโปร่งใส เพิ่มความเข้มแข็งด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มโอกาสการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย

——————————————–