ชป.เน้นเก็บกักน้ำเดือนสุดท้าย พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำระดับท้องถิ่นสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกร

วันที่ 28 ก.ย. 63 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ อาคารหม่อมหลวงชูชาติ กำภู  กรมชลประทาน ถนนสามเสน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา วันที่ 28 – 29 ก.ย. 2563 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้จะเคลื่อนตัวเข้าสู่แนวร่องมรสุมปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และอ่าวไทยตอนบน สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(28ก.ย.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 40, 041 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 15,988 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,190 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 4,494 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (28 ก.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 11,322 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,480 ล้าน ลบ.ม. เกินแผนไปแล้วร้อยละ 7

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พร้อมจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำที่มั่นคง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ เน้นการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด รวมทั้งพิจารณาการใช้น้ำท่าจากแม่น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด แทนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ พร้อมกันนี้ ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้ใช้น้ำงดทำนาต่อเนื่อง สนับสนุนปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน และขอให้เก็บกักน้ำฝนช่วงเดือนสุดท้ายไว้ในภาชนะ หรือพื้นที่แก้มลิง ภายในพื้นที่ตนเอง เพื่อสำรองใช้ในฤดูแล้งถัดไป

****************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

28 กันยายน 2563