กรมอุทยานแห่งชาติฯ พาสื่อมวลชนลงพื้นที่อ่าวมาหยา ติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูระบบนิเวศ และการปลูกปะการังด้วยวิธี Propagation

(8 ต.ค.61) นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ พร้อมทั้งนายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี คณะสื่อมวลชนร่วมติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดและระบบนิเวศแนวปะการังบริเวณอ่าวมาหยา และการปลูกฟื้นฟูปะการัง (Coral Popagation Course) ที่เสื่อมโทรมในพื้นที่บริเวณอ่าวมาหยา ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่

นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า “อ่าวมาหยาเป็นสถานที่ที่สวยงามและได้รับความนิยมอย่างยิ่งจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ก็พบปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีประกาศปิดอ่าวมาหยา ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2561 เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรและบริหารจัดการพื้นที่อ่าวมาหยา ให้มีประสิทธิภาพ ลดความแออัดของนักท่องเที่ยว ตลอดจนให้ธรรมชาติได้เกิดการฟื้นตัว และพบว่าปะการังมีเพิ่มมากขึ้น ระบบนิเวศมีการฟื้นตัว แต่ปัญหาที่พบก่อนจะมีประกาศปิดอ่าวมาหยานั้น คือ หาดทรายบริเวณหน้าหาดของอ่าวมาหยา ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาเหยียบย่ำบนหาดทรายตลอดทั้งปี ทำให้ทรายไหลลงสู่ทะเลขัดขวางกระบวนการเพิ่มทรายหน้าหาดตามธรรมชาติ จากคลื่นที่พัดเข้าชายหาด ส่งผลให้เนินทรายหน้าชายหาดเกิดการทรุดตัวและพังทลาย นอกจากนี้สารเคมีบางชนิดที่อยู่ในครีมกันแดด เมื่อนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ จะกระจายสู่ทะเลส่งผลทำให้ปะการังพิการหรือตาย เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ส่วนปัญหาที่เกิดจากเรือรับส่งนักท่องเที่ยวที่จอดบริเวณหน้าหาดเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวนั้น จะมีการกวนทราย ซึ่งตะกอนเหล่านี้จะตกทับถมบนก้อนปะการัง รวมถึงการทิ้งสมอเรือเพื่อถอยท้ายเรือเข้ามายังชายหาด หรือการนำเรือเข้ามาเทียบ ชายหาดช่วงน้ำลง ส่งผลให้ปะการังได้รับความเสียหาย จากการสำรวจพบร่องรอยความเสื่อมโทรมของแนวปะการังในบริเวณกลางอ่าวมาหยา เป็นบริเวณที่เรือท่องเที่ยววิ่งผ่านด้วย”

“สำหรับวิธีการดำเนินการฟื้นฟูบริเวณรอบอ่าวมาหยา ได้แก่ การปรับสภาพภูมิทัศน์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้ชายหาดได้มีการเติมทรายตามธรรมชาติ การปลูกไม้ป่าชายหาดเพื่อช่วยลดการพังทลายของสันทราย ปลูกไม้ป่าชายหาดเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ สำรวจการกัดเซาะชายหาด สำรวจปะการังน้ำตื้นและน้ำลึกบริเวณรอบอ่าวมาหยา ซึ่งปะการังมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงที่ได้มีการประกาศปิดอ่าวมาหยา นอกจากนี้ยังพบการเข้ามาหากินของฉลามหูดำ (Blacktip reef shark) ขนาดเล็กบ่อยขึ้น จำนวนมากขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าระบบนิเวศในอ่าวมาหยา กำลังเริ่มฟื้นตัว มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำขนาดเล็กที่เข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีการรบกวนจากกิจกรรมการท่องเที่ยว” นายจงคล้ายกล่าว