ร.พ.เมตตาฯ (วัดไร่ขิง) ชวนป้องกัน “โรคตาขี้เกียจ” ในเด็ก

แพทย์แนะโรคตาขี้เกียจในเด็กส่งผลให้การมองเห็นลดลง หากตรวจพบและรักษาตั้งแต่เด็กมีโอกาสหายขาดสูงกว่าเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการเพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที

นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคตาขี้เกียจ คือ โรคทางสายตาที่ทำให้ดวงตามองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง โรคนี้มักพบในเด็กช่วงอายุไม่เกิน 7 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีพัฒนาการทางการมองเห็น  การตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ในระยะแรกจะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้พัฒนาการทางด้านสายตาของเด็กเป็นไปตามวัย  โดยเด็กทุกคนมีโอกาสในการเกิดโรคตาขี้เกียจ ดังนั้นพ่อแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของเด็กที่อยู่ในช่วงวัยก่อนเข้าเรียนหรืออายุประมาณ 3-4 ปี หากพบความผิดปกติควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที ทั้งนี้สาเหตุของโรคตาขี้เกียจที่พบบ่อยส่วนใหญ่เกิดจากภาวะตาเหล่ ภาวะสายตายาวหรือสั้นมากผิดปกติ  โรคตาที่ทำให้เกิดการบดบังของการมองเห็น เช่น ภาวะหนังตาตก ภาวะต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด โรคทางจอตาและระบบประสาทตา

แพทย์หญิงสายจินต์  อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)  กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคตาขี้เกียจเป็นภาวะที่การมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่งด้อยกว่าอีกข้างหนึ่ง  ดวงตาข้างที่เป็นโรคตาขี้เกียจจะมองเห็นมัวกว่าดวงตาข้างที่มองเห็นปกติ การตรวจพบโรคตาขี้เกียจตั้งแต่เด็กจะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูงกว่าเมื่อเป็นผู้ใหญ่  ซึ่งการรักษาจะทำได้ยากมากขึ้นตามอายุ อย่างไรก็ตามแนวทางในการรักษาจะกระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้งานดวงตาข้างที่กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เพื่อช่วยให้สมองทำงานประสานกับดวงตาข้างนั้นให้มากขึ้น และรักษาความผิดปกติของสายตาที่เป็นต้นเหตุ โดยอาจใช้การรักษาหลายวิธีควบคู่กัน อาทิ การรักษาโดยการผ่าตัด  การใช้แว่นสายตา ในกรณีที่มีตาเหล่หรือเริ่มมีอาการของตาขี้เกียจจะรักษาโดยการกระตุ้น
โดยให้ปิดตาข้างที่ดีเพื่อให้ตาข้างที่ด้อยกว่าได้ใช้งาน  ควรปิดตาตามที่แพทย์สั่งจนกว่าสายตาทั้งสองข้างจะมองเห็นเป็นปกติ  ซึ่งแต่ละรายอาจจะใช้เวลาไม่เท่ากัน  การรักษาโรคตาขี้เกียจมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ซึ่งมีส่วนสำคัญในความสำเร็จของการรักษา โดยจะต้องดูแลให้เด็กปิดตาในข้างที่กำลังรักษาตามเวลาที่แนะนำ  และไปพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ขอแนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองหมั่นสังเกตพฤติกรรมในการมองเห็นของลูกหลาน  หากพบความผิดปกติควรรีบรักษาโดยจักษุแพทย์ทันที

*****************************************************************