มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง เสริมศักยภาพครู พัฒนาความรู้สู่ชุมชน สร้างคนไทยในโลกยุคใหม่

27 กันยายน 2563 : ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ประจำปี พ.ศ. 2563 ภายใต้แนวคิด “มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง เสริมศักยภาพครู พัฒนาความรู้สู่ชุมชน สร้างคนไทยในโลกยุคใหม่”ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

การดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง สอดคล้องกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์) ที่ต้องการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเพื่อพัฒนาจังหวัดด้วยอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะมีการบูรณาการการทำงานระดับกลุ่มจังหวัด มีเครือข่ายมหาวิทยาลัย 9 เครือข่ายเป็นตัวขับเคลื่อน หรือ “อว. ส่วนหน้า” เป็นการผสมผสานและทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย ทำให้อาจารย์ นักวิจัย ออกจากห้องเรียนห้องแล็บมาทำงานจริง นำไปสู่การเติมเต็มระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะนำสู่การศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ การพัฒนาครูสู่ผู้เรียนด้วยนวัตกรรม ควบคู่กับการปลูกฝังคุณธรรม การสร้างวินัยพร้อมกับส่งเสริมการเรียนรู้กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบและยั่งยืน แก้ปัญหาและยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของแต่ละท้องถิ่น ให้เกิดการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น โดยผลงานของการดำเนินงานโครงการฯ ที่มีมากว่า 5 ปี ได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม นำพลังของสถาบันอุดมศึกษา 135 สถาบัน จากเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค 9 เครือข่ายเข้าร่วมโครงการฯ ทำงานร่วมกับโรงเรียน 2,371 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด เสริมศักยภาพครู 19,897 คน และพัฒนานักเรียน 225,682 คน

ดร.อรสา ภาววิมล ได้กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนากำลังคนคุณภาพในยุค New Normal ที่จะต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านกระบวนการบูรณาการโลกของการศึกษากับโลกของการประกอบอาชีพที่ต้องเน้นสมรรถนะ (Competency: Knowledge, Attitudes, Skills, Values) ซึ่งประกอบด้วย Survival Competency และ Professional Competency เพื่อเตรียมเด็กไทยให้เป็นคนไทยรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ทักษะทางวิชาชีพและวิชาชีวิต สามารถดำรงอยู่ได้ทั้งในโลกปัจจุบัน และโลกอนาคต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

การจัดประชุมดังกล่าว นอกจากแสดงผลการดำเนินงานและนิทรรศการในภาพรวมของโครงการฯ ยังมีการนำเสนอสื่อและนวัตกรรมต้นแบบ ที่เป็นผลผลิตจากการดำเนินโครงการ รวมทั้งมีการเสวนาเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคต โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 500 คน เป็นผู้แทนจากเครือข่ายอุดมศึกษา 9 ภูมิภาค ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นิสิตนักศึกษาและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ

……………………………..