สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : เก็กฮวย คลายเครียด ไมเกรน

เก็กฮวยดอกสีเหลือง

ชื่อพฤกษศาสตร์ : Chrysanthemum indicum L.

ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE (ASTERACEAE)

ชื่ออื่นๆ : เบญจมาศสวน, Indian Chrysanthemum

เก็กฮวยดอกสีขาว

ชื่อพฤกษศาสตร์ : Chrysanthemum morifolium Ramat.

ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE (ASTERACEAE)

ชื่ออื่นๆ : ดอกขี้ไก่ เบญจมาศ เบญจมาศหนู Florist’s daisy,

Hardy garden mum

ลักษณะทั่วไป : พืชล้มลุก ต้นสูง 60-150 เซนติเมตร ลำต้นแข็ง ตั้งตรง มีลักษณะเป็นพุ่ม ใบเดี่ยว เรียงสลับ โคนใบสอบ ขอบใบเว้าเป็นพู 3-5 พู แผ่นใบหยาบ ดอกช่อหรือดอกเดี่ยว ออกที่ปลายยอด กลีบดอกรูปลิ้นเรียงซ้อนกัน กลีบดอกมีสีขาวหรือสีเหลือง หลายชั้น

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง

เก็กฮวย เป็นสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีน มีฤทธิ์เย็นรสหวานอมขม น้ำเก็กฮวยเป็นสมุนไพรในตู้แช่ที่คนไทยในสมัยก่อนคุ้นเคยเป็นอย่างดี สรรพคุณแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อ่อนเพลีย บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ดอกเก็กฮวยสามารถนำมาเป็นเครื่องดื่มร้อน เย็น ทำเป็นชาสมุนไพร รวมทั้งใช้ทำอาหาร เช่น ไก่ตุ๋นเก็กฮวยใส่ขิง เป็นต้น

ดอกเก็กฮวยมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในประเทศแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น นอกจากใช้ในสรรพคุณเกี่ยวกับระบบหัวใจแล้ว ยังมีสรรพคุณเด่นในการรักษาไมเกรน นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง วิตกกังวล ซึมเศร้า และเป็นยาอายุวัฒนะ

ปัจจุบันมีการศึกษาพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเก็กฮวยมากมาย เช่น ฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง ฤทธิ์ต้านเบาหวาน ฤทธิ์ต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ เพิ่มภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ดอกเก็กฮวย มีสรรพคุณที่เหมาะกับสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเครียด ปวดหัว ปวดหัวไมเกรน มีรายงานฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาสนับสนุนภูมิปัญญานี้ โดยพบว่าดอกเก็กฮวยมีฤทธิ์เพิ่มระยะเวลาการนอนหลับในหนูทดลอง มีการศึกษาพบว่า สารสารสกัดน้ำจากดอกเก็กฮวยสายพันธุ์ Chrysanthemum indicum L.

มีฤทธิ์คลายกังวลได้ในหนูทดลอง โดยการออกฤทธิ์คลายกังวลนี้คาดว่าน่าจะผ่าน GABAA receptor และ the 5-HT1A receptor สรรพคุณเด่นอีกอย่างหนึ่งของเก็กฮวยคือ ช่วยลดการปวดหัวไมเกรน โรคไมเกรนนั้นเกี่ยวข้องกับการลดลงของสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (serotonin) ทำให้เส้นเลือดฝอยที่มีเส้นประสาทพันรอบในสมองขยายตัว ถูกยืดออก จึงกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะค่อนข้างรุนแรง โดยจะเริ่มบริเวณใดบริเวณหนึ่งของศีรษะ มีการศึกษาพบว่า สารสกัดด้วยน้ำของเก็กฮวยช่วยลดการปวดหัวไมเกรนโดยไม่มีผลข้างเคียง จากการศึกษาพบว่า การออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเก็กฮวยนี้ผ่านกลไกการกระตุ้นตัวรับของสารเซโรโทนิน อันเป็นกลไกเดียวกับยาแผนปัจจุบันซึ่งมีราคาแพงและมีผลข้างเคียง

ตำรับเก็กฮวย

แก้ร้อนในกระหายน้ำ คลายเครียด แก้ไมเกรน

ส่วนประกอบ : ดอกเก็กฮวย 8-16 กรัม น้ำเปล่าประมาณ 2 ลิตร หรือ ดื่มแทนน้ำ เวลาต้มไม่บี้ดอก ไม่เคี่ยวเพราะจะทำให้ขม

วิธีต้ม  ต้มน้ำเปล่าจนเดือด จากนั้นใส่ดอกเก็กฮวยแล้วรีบปิดฝาทิ้งให้เย็น กรอง เติมน้ำเชื่อมหรือจะใส่ในน้ำต้มแต่แรก ตามใจชอบ ในการทำขายนิยมแต่งสีเหลืองด้วยเมล็ดพุดจีน โดยจะทุบใส่ผ้าขาวบางห่อ ต้มไปก่อน แล้วเอาออกก่อนจะใส่ดอกเก็กฮวย หรือจะใช้เก็กฮวยชงใส่กาดื่มอุ่นๆ ก็ได้เช่นกัน

ข้อมูลจาก หนังสือบันทึกของแผ่นดิน 12, สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

คลินิกออนไลน์ line : @abhthaimed