“น้ำบาดาล” เร่งปูพรม ระดมเติมน้ำใต้ดินทั่วประเทศเพิ่มอีก 1,000 แห่ง

“น้ำ” เป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่พื้นฐานของประเทศ การบริหารจัดการน้ำเพื่อนำน้ำผิวดินส่วนเกินไปกักเก็บไว้ใต้ดินจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีการดำเนินการมาแล้วนับเป็นเวลายาวนานในต่างประเทศ ดังนั้น ในช่วงวิกฤตการณ์ปัญหาภัยแล้งของประเทศไทยที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ปริมาณน้ำผิวดินไม่เพียงพอ ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงได้ตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการเติมน้ำใต้ดิน โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้สั่งการให้เร่งพัฒนาธนาคารน้ำใต้ดิน โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นเจ้าภาพหลัก พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนการพัฒนาบ่อน้ำบาดาลและธนาคารน้ำใต้ดิน ตามแนวทางและหลักเกณฑ์ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดและมีการเผยแพร่แก่ประชาชนผู้สนใจ โดยเฉพาะท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่ดำเนินการเก็บน้ำใต้ดินให้มากขึ้น

หลักการเติมน้ำใต้ดิน เป็นการนำน้ำที่มีมากเกินความจำเป็นในช่วงน้ำท่วมหลากหรือจากน้ำฝนที่ตกลงมาเติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลในบริเวณพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการเติมน้ำใต้ดิน ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การเติมน้ำใต้ดินสามารถช่วยระบายน้ำท่วมขังในชุมชน ช่วยธรรมชาติฟื้นฟูระดับน้ำบาดาลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ที่สำคัญ รูปแบบและวิธีการเติมน้ำใต้ดินที่เหมาะสมจะเพิ่มความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณ โดยรูปแบบของการเติมน้ำใต้ดินมีหลากหลายวิธี สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ต่างๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันวิธีที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลแนะนำให้ใช้กับพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย มี 3 รูปแบบ คือ การเติมน้ำผ่านบ่อวงคอนกรีต การเติมน้ำฝนผ่านหลังคา และการเติมน้ำผ่านสระ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขานรับนโยบายเร่งด่วนและมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลขับเคลื่อนภารกิจการเติมน้ำใต้ดิน โดยในปีงบประมาณ 2563 ได้เร่งดำเนินงานโครงการเติมน้ำใต้ดิน จำนวนทั้งสิ้น 530 แห่ง งบประมาณรวม 46 ล้านบาท และจัดทำโครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ตำบลทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,000 แห่ง ครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ งบประมาณรวม 62.9 ล้านบาท เพื่อเป็นการเผยแพร่ขยายผลแนวทางการเติมน้ำใต้ดินตามหลักวิชาการ และจะเป็นอีกวิธีการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาภัยแล้ง น้ำท่วมขัง เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับระบบนิเวศที่พึ่งพาน้ำบาดาล

ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เผยว่า ตามที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้ดำเนินโครงการเติมน้ำใต้ดิน จำนวนทั้งสิ้น 530 แห่ง แบ่งเป็น รูปแบบการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นผ่านบ่อวงคอนกรีต พื้นที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 500 แห่ง และการเติมน้ำฝนผ่านหลังคา พื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดระยอง จำนวน 30 แห่ง ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จแล้ว สำหรับโครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ตำบลทั่วประเทศ จำนวน 1,000 แห่ง ที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางประจำปีงบประมาณ 2563 ภายใต้โครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่  76 จังหวัดทั่วประเทศ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เริ่มดำเนินการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะดำเนินแล้วเสร็จทั้งหมดได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยังได้เผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินและชุดแผนที่ความเหมาะสมในการเติมน้ำใต้ดินของประเทศไทยให้กับท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ท้องถิ่นได้รับทราบ และเป็นแนวปฏิบัติในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นดิน ตลอดจนลดปัญหาน้ำท่วมขัง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติมน้ำใต้ดิน  จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่า น้ำที่ใช้เติมต้องเป็นน้ำสะอาด ไม่มีสารพิษหรือสารปนเปื้อน และวัสดุที่ใช้จะต้องเป็นวัสดุธรรมชาติ ไม่นำขยะมูลฝอยมาถมไว้ในบ่อเติมน้ำโดยเด็ดขาด

……………………………………………