รมว.อว.เปิดบ้านต้อนรับผู้นำนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “Young TH Leader & Innovator Club นวัตกรรมเพื่อสังคม บทบาทสำคัญของผู้นำเยาวชนยุคใหม่” ครั้งที่ 2

“เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.อว. เปิดบ้านต้อนรับผู้นำนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 72 แห่ง เข้าร่วมกิจกรรม “Young TH Leader & Innovator Club นวัตกรรมเพื่อสังคม บทบาทสำคัญของผู้นำเยาวชนยุคใหม่” ครั้งที่ 2 หนุนงานพัฒนาชุมชนด้วยบทบาทนักศึกษาผ่านกลไกของ อว.

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดการประชุมและสร้างเครือข่ายผู้นำนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 72 แห่ง เข้าร่วมกิจกรรม “Young TH Leader & Innovator Club นวัตกรรมเพื่อสังคม บทบาทสำคัญของผู้นำเยาวชนยุคใหม่” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีฯ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมพบปะกับผู้นำนักศึกษานรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับทราบนโยบาย แนวคิด กลไกการสนับสนุนเพื่อสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมรวมทั้งรับทราบตัวอย่างโครงการด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการทำงานพัฒนาชุมชน ณ อาคารสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ถนนโยธี

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า อว. พร้อมสนับสนุนงานพัฒนาชุมชนด้วยบทบาทนักศึกษา ด้วยเหตุที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ยุค “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเน้นการพัฒนาสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยมีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยน โครงสร้างระบบเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Value-Based Economy ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ 1.ประเทศไทยเปลี่ยนจากเกษตรแบบเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) ที่เน้นการบริหารจัดการ และเทคโนโลยี เป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ 2.เปลี่ยนจาก SMEs แบบเดิมที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลือไปสู่การเป็น Smart SMEs และ Startups ที่มีศักยภาพสูง 3.เปลี่ยนจากธุรกิจบริการแบบเดิม ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำไปสู่ธุรกิจบริการที่สร้างมูลค่าสูง (High Value Services) และ 4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะสูง ดังนั้นโลกในวันนี้และพรุ่งนี้รวมทั้งในอนาคต คือ โลกแห่งความท้าทายและการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นใหม่เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคศตวรรษที่ 21 จึงเป็นเรื่องท้าทายของคนรุ่นใหม่ เพราะเป้าหมายของนวัตกรรมคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพื่อทำให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นและนำการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวต่อไปว่า เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น อว.ได้จัดเตรียมกลไกไว้ให้ผู้นำนักศึกษาได้เข้าถึงและมาใช้ประโยชน์ในการคิดค้นพัฒนาโครงการต่างๆ ที่จะสร้างคุณค่าทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับชุมชน จังหวัดและประเทศ และขอให้ผู้นำนักศึกษาขยายผลการสนับสนุนของ อว.ที่ได้รับทราบนี้ไปสู่เครือข่ายนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อจะได้ร่วมมือกันหรือริเริ่มดำเนินการจัดตั้งเป็น Innovator’s Club ให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนรังสรรค์นวัตกรรมกันภายในกลุ่มนักศึกษาผ่านกลไก 3 ด้าน คือ 1.โครงการยุวชนสร้างชาติ ที่มี 3 โครงการสำคัญ คือ ยุวชนอาสา บัณฑิตอาสา และกองทุนยุวสตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการมองปัญหาของชุมชนและหาแนวทางการแก้ไขที่สร้างสรรค์ พร้อมมีเงินทุนสนับสนุนในการดำเนินการ 2.นโยบายการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาทักษะในรั้วสถาบันการอุดมศึกษา โดยจัดทำเป็นหลักสูตร Non degree ให้สามารถเลือกเรียนรู้ได้ตรงกับความต้องการ และ 3.นโยบายความร่วมมือของหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้ อว. โดยมอบหมายให้หน่วยงานสถาบันวิจัยหรือองค์กรด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัย เทคโนโลยีชุมชนและเงินทุน เพื่อให้นักศึกษาทำโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งสามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีมิติของการประกอบธุรกิจนวัตกรรมที่ทำได้จริงและมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม
ขณะที่ ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเสริมว่า อว.จัดกิจกรรม Young TH Leader & Innovator Club นวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Innovation ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยนำผู้นำนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมาช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่จะช่วยลดช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำให้เป็นรูปธรรม และเพื่อเป็นการวางรากฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เติบโตไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เพราะนวัตกรรมเพื่อสังคมคือการประยุกต์ใช้ความคิดใหม่และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลกที่องค์การสหประชาชาติกําหนดขึ้น