โรคใบร่วงในยางพาราเช็คได้ ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

ยางพารา เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้และของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมการผลิตยางประเภทต่างๆ และอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำยางมาเป็นส่วนผสม อาทิ ถุงมือยาง ของเล่น ของใช้ เป็นต้น โดยประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกยางพารามากที่สุดในอันดับต้นๆของกลุ่มประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน เวียดนามและอินเดีย ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 28 ล้านไร่ กระจายอยู่เกือบทุกภาคของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2557-2561 ปริมาณผลผลิตยางพาราเฉลี่ยในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ กล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบันได้เกิดโรคใบร่วงระบาดในยางพาราซึ่งเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ตามรายงานของประเทศสมาชิกสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (International Rubber Research and Development Board) หรือ IRRDB โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และศรีลังกา ได้มีการระบาดอย่างหนักเป็นวงกว้าง จากการตรวจพบของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พบว่าการระบาดของโรคดังกล่าวได้ลุกลามเข้ามาในประเทศไทยบางพื้นที่แล้ว เกิดความเสียหายอย่างหนักและผลผลิตตกต่ำ

โรคใบร่วงในยางพารา เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. และเชื้อราอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดใบร่วงอย่างรุนแรง ต้นโทรม ผลผลิตน้ำยางลดลงบางครั้งอาจไม่มีน้ำยาง ถึงขั้นต้องหยุดกรีดยาง เชื้อรานี้จะมีการแพร่ระบาดโดยลมหรือจากการเคลื่อนย้ายส่วนของต้นยาง อาการของโรคปรากฏบนใบยางที่แก่ ลักษณะเป็นแผลกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางส่วนใหญ่มากกว่า 0.5 เซนติเมตร

ช่วงเริ่มแรกอาการบนผิวใบเป็นรอยสีเหลืองค่อนข้างกลม (chlorosis) และต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะตายแห้ง (necrosis) เป็นแผลกลมสีสนิมซีด พบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล จากนั้นใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด อาการของโรคจะรุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วันเพราะอากาศที่ชื้นและลมแรง

นอกจากนี้ ยังพบมีแผลลุกลามแห้งจากปลายยอด หากใบร่วงหลายครั้งอาจถึงขั้นยืนต้นแห้งตายได้ GISTDA ได้ใช้เทคโนโลยีเชิงพื้นที่และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงยางพาราในเขตภาคใต้ ตอนล่าง ได้แก่ จ.พังงา กระบี่ ตรัง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 – กุมภาพันธ์ 2563

หลังจากที่ กยท. พบว่ามีการระบาดเป็นพื้นที่วงกว้างในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียมาแล้ว โดยเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้แจ้งว่าพบต้นยางมีอาการใบร่วงเป็นจำนวนมากแทบหมดทั้งต้น ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เนื่องจากเป็นช่วงที่ยางพารายังไม่ผลัดใบ การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลจึงสามารถบ่งชี้พื้นที่ที่เกิดการระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์และสามารถสนับสนุนข้อมูลพื้นที่การแพร่กระจายของโรคให้กับ กยท. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการแก้ปัญหาในพื้นที่เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของน้ำยางได้

……………………………………………………….