สตง. แจงผลการตรวจสอบโครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงินงบประมาณ 392.36 ล้านบาท พบการดำเนินโครงการบางส่วนยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

16 กันยายน 2563 สตง. แจงผลการตรวจสอบโครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงินงบประมาณ 392.36 ล้านบาท พบการดำเนินโครงการบางส่วนยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และไม่เป็นไปตามแนวทางที่โครงการกำหนด เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังไม่สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ได้ ในขณะที่การสนับสนุนจากโครงการยังไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเกษตรกร ส่งผลให้รัฐเสียโอกาสในการนำงบประมาณแผ่นดินไปใช้สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรตามศักยภาพความจำเป็นของแต่ละกลุ่มอย่างสมเหตุสมผล สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ โครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวเป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาล และแนวทางการดำเนินงานด้านข้าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ให้ความเห็นชอบ และได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวนเงิน 392.36 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิต ทำให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของข้าวจากการปรับโครงสร้างการผลิตเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ตลอดจนเพื่อให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการดำเนินงานตามโครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ซึ่งได้กำหนดกิจกรรมเป็นโครงการย่อย จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต โครงการปรับเป็นเกษตรกรทางเลือก และโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Market) มีข้อตรวจพบ ดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1 โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตมีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายและความคาดหวังที่กำหนดไว้ จากการตรวจสอบพบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่วนหนึ่งไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ได้ โดยจากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ผลิตข้าวคุณภาพดี จำนวน 112 ราย พบว่ามีเกษตรกรรวม 105 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 93.75 มีต้นทุนการผลิต (บาทต่อไร่) โดยประมาณเท่าเดิม/เพิ่มขึ้น และมีเกษตรกรรวม 81 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 72.32 มีผลผลิต (กิโลกรัมต่อไร่) โดยประมาณเท่าเดิม/ลดลง เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตก่อนเข้าร่วมโครงการ ส่วนกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโดยการส่งเสริมการผลิตและใช้เมล็ดพันธุ์ดีนั้น

จากการตรวจสอบพบว่า ปริมาณผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของสมาชิกกลุ่มในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ตามข้อมูลการตรวจสอบของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ศูนย์วิจัยข้าว และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติพบว่า มีแปลงผลิตเม็ดพันธุ์ข้าวที่ผลผลิตไม่ผ่านข้อกำหนดมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย จำนวน 401 แปลง จากจำนวนแปลงรวม 859 แปลง หรือคิดเป็นร้อยละ 46.68

ข้อตรวจพบที่ 2 โครงการปรับเป็นเกษตรกรรมทางเลือกมีการดำเนินงานส่วนหนึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด จากการตรวจสอบพบว่า สภาพพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการไม่ใช่พื้นที่นาเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรกรรมทางเลือกตามแนวทางที่โครงการกำหนด เช่น เป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมทางเลือกมาก่อน พื้นที่สวน พื้นที่ว่างเปล่า หรือกรณีพื้นที่เข้าร่วมโครงการเป็นพื้นที่นาแต่ก็ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรกรรมทางเลือกตามแนวทางที่โครงการกำหนด โดยยังคงปลูกข้าวหรือปลูกพืชหลังนา เช่น หอม กระเทียม คะน้า ซึ่งเป็นวิถีของชาวนามาแต่เดิม เป็นต้น อีกทั้งยังพบว่าพื้นที่เข้าร่วมโครงการบางส่วนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่โครงการกำหนด ทั้งในประเด็นความเหมาะสมของพื้นที่ในการปลูกข้าว จำนวนและการถือครองที่ดิน ที่ตั้งของพื้นที่ และจำนวนพื้นที่

นอกจากนี้ รายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ได้ระบุข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวตลาดเฉพาะ จากการตรวจสอบพบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ของกลุ่มเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการโดยไม่ได้กำหนดให้มีการสำรวจและประเมินศักยภาพในมิติต่าง ๆ ที่กลุ่มเกษตรกรมีอยู่ก่อนแล้ว เพื่อให้สอดรับหรือตรงกับความต้องการของแต่ละกลุ่มและสามารถเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการในลักษณะของการต่อยอดจากเดิม

ทำให้การสนับสนุนจากโครงการยังไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเกษตรกร เช่น กลุ่มเกษตรที่มีศักยภาพมากควรเน้นส่งเสริมเรื่องนวัตกรรม ในขณะที่กลุ่มเกษตรกรใหม่ควรสนับสนุนในเรื่องปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าว เครื่องซีลสูญญากาศ เป็นต้น จากการที่ไม่มีการประเมินศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรก่อนการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทำให้รัฐเสียโอกาสในการนำงบประมาณแผ่นดินไปใช้สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรอื่นที่มีศักยภาพเหมาะสมกับกิจกรรมของโครงการมากกว่า

จากผลการตรวจสอบข้างต้น สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ให้มีสำรวจความต้องการและสภาพพื้นที่การผลิตข้าวของเกษตรกร รวมถึงพิจารณาความสอดคล้องกับระยะเวลาฤดูกาลเพาะปลูกเพื่อให้ได้แนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่ตรงตามความต้องการของเกษตรกรและเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละกลุ่มเกษตรกร ทบทวนการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการ

โดยควรพิจารณาถึงความพร้อมของผู้เข้าร่วมโครงการ ลักษณะพื้นที่ที่สามารถนำมาเข้าร่วมโครงการได้จริง เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่โครงการกำหนด รวมถึงให้มีการประเมินศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในระยะถัดไปหรือโครงการที่มีลักษณะเดียวกันในทุกมิติเพื่อกำหนดกิจกรรมสนับสนุนให้สอดคล้องตามศักยภาพความจำเป็นของแต่ละกลุ่มอย่างสมเหตุสมผล ฯลฯ

……………………………………………………………..