“เร็วคือรอด” GISTDA สรุปภาพรวมของสถานการณ์การเตรียมรับมือการระบาดของโควิด-19 บริเวณชายแดนและสภาพกูมิประเทศแนวพรมแดนไทย-พม่า

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA โพสต์ลงเฟสบุคแฟนเพจของสำนักงานฯ สรุปภาพรวมของสถานการณ์การเตรียมรับมือการระบาดของโควิด-19 บริเวณชายแดนและสภาพกูมิประเทศแนวพรมแดนไทย-พม่า ที่ส่วนใหญ่เป็นพรมแดนทางธรรมชาติที่ประเมินจากภาพถ่ายจากดาวเทียม

ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2563 สถิติผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศพม่าได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่เดือนกันยายนพบว่ายอดผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มมากกว่า 100 รายต่อวัน สถิติสูงที่สุดคือเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2563 วันเดียวพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มจำนวนสูงถึง 337 ราย แม้ว่าพื้นที่การระบาดในประเทศพม่ายังอยู่ห่างจากชายแดนไทย แต่มีการคาดการณ์ว่าหากพม่ายังควบคุมไม่ได้ อีกประมาณ 2 สัปดาห์การระบาดจะมาถึงบริเวณพื้นที่ใกล้ชายแดนไทย

นับตั้งแต่มีการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต้นปี 2563 ทางภาครัฐของประเทศไทยได้มีมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศอย่างเข้มข้น โดยมีคำสั่งให้ปิดช่องทางระหว่างไทยและพม่า ณ จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรนการค้า และจุดผ่อนปรนพิเศษ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นในพม่ายังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนา 2019 แต่ประเทศไทยตรวจพบผู้ติดเชื้อแล้วรวม 411 ราย ณ วันที่ 21 มีนาคม 2563

มาถึงปัจจุบันนี้เหตุการณ์กลับตาลปัตร กราฟจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันในพม่ากำลังพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในขณะที่ฝั่งไทยไม่มีการแพร่กระจายเชื้อมาแล้ว 3 เดือน ส่งผลให้จำนวนชาวพม่าพยายามหลบหนีข้ามชายแดนเข้ามาสู่ประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้นไปตามๆกัน รวมถึงชาวต่างชาติที่ทำงานในพม่าอีกด้วย ซึ่งส่วนมากก็จะอาศัยช่องโหว่ตามพรมแดนธรรมชาติข้ามกันมา

แนวพรมแดนธรรมชาติไทย – พม่า เริ่มตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง มีความยาวรวมทั้งสิ้น 2,401 กิโลเมตร ประมาณ 70%ของความยาวทั้งหมดใช้สันปันน้ำหรือภูเขาเป็นแนวกั้นเขตแดน คือ ทิวเขาแดนลาว ทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาตะนาวศรี ส่วนอีก 30% ใช้แม่น้ำเป็นแนวแบ่งพรมแดน ได้แก่ แม่น้ำรวก แม่น้ำสาย แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมย ห้วยวาเลย์ คลองกระ และแม่น้ำกระบุรี

จากการตรวจสอบด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม พบว่าหลายจุดยังมีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากบางช่วงของแม่น้ำที่ทำหน้าที่เป็นแนวเขตแบ่งมีความกว้างไม่ถึง 20 เมตร อีกทั้งบางช่วงเป็นพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาเชื่อมต่อกันระหว่างสองประเทศโดยไม่มีแนวกั้นทางธรรมชาติแต่อย่างใด ด้วยลักษณะภูมิประเทศแบบนี้อาจเกิดการลักลอบเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และที่น่ากังวลมากที่สุดคือ การเข้ามาพร้อมกับเชื้อโคโรนา 2019

ฟังดูแล้วหากจะปิดกั้นพรมแดนตลอดทั้งแนวคงเป็นไปได้ยากด้วยระยะทาง 2,401 กิโลเมตร หรือประมาณ 3 เท่าของระยะทางจาก กทม.ถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย และด้วยลักษณะภูมิประเทศแบบภูเขายิ่งทวีคูณความยากขึ้นไปอีก แต่แม้กระนั้นทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าตรวจ และจับกุมแรงงานต่างด้าวในเขตรับผิดชอบ โดยเฉพาะพื้นที่ตามตะเข็บชายแดน ช่องทาง ท่าข้ามธรรมชาติ พื้นที่เพ่งเล็ง พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่สนใจ ทั้งทางบกและทางน้ำกันอย่างเต็มที่

พูดถึงแนวพรมแดนลองมาดูอีกทางฝากของประเทศ เริ่มต้นที่พรมแดนไทย-ลาว มีความยาวทั้งหมด 1,810 กิโลเมตร แบ่งเป็นร่องน้ำลึกประมาณ 60% ของความยาวทั้งหมด ส่วนมากก็เป็นแนวแม่น้ำโขง และสันปันน้ำประมาณ 40% ของความยาวทั้งหมดเช่นกัน ส่วนพรมแดนไทย-กัมพูชามีความยาวทั้งหมด 798 กิโลเมตร แบ่งเป็นสันปันนั้นประมาณ 70% และลำน้ำต่างๆประมาณ 30% ของความยาวทั้งหมด เช่นเดียวกับทางฝั่งพม่าที่เป็นพรมแดนธรรมชาติที่ทำให้การสกัดกั้นการลักลอบข้ามแดนนั้นค่อนข้างยาก แต่โชคดีที่ทั้งสองประเทศนี้ ปัจจุบันไม่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

แต่สำหรับทางภาคใต้ พรมแดนไทย-มาเลเซีย มีความยาวทั้งสิ้น 647 กิโลเมตร แบ่งเป็นสันปันน้ำประมาณ 85% และร่องน้ำลึกประมาณ 15% ของความยาวทั้งหมด ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา จากตัวเลขทั้งหมดที่นำมาแสดงให้เห็นนี้มาจากการคำนวณด้วยเทคนิคทางภูมิสารสนเทศซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความยากในการที่จะสกัดกั้นหาเกิดการระบาดที่นอกเหนือการควบคุมในประเทศเพื่อนบ้านเรา

กลับมาที่สถานการณ์ทางฝั่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า นอกจากกำลังจากทหารที่ช่วยเรื่องสกัดกั้น อีกหนึ่งภาคส่วนที่เราต้องให้กำลังใจและสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งคือบุคลากรสาธารณสุขตามเขตชายแดน เพราะต้องคัดกรองผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนบุคลากรเท่าเดิม ดังข้อความที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่เพื่อเราทุกคน จากเฟสบุ๊ค Nuttagarn Chuenchom ว่า “ทุกวันนี้ก็เลยต้องเปลี่ยนความรู้สึกเบื่อเซ็งว่าทำไมถึง “สกัดกั้น” การหลบหนีเข้าเมืองไม่ได้ 100% มาเป็นทำอย่างไรจึงจะ “จับกุม” และ “คัดกรอง” โรคให้ได้เร็วที่สุดแทน… “เร็วคือรอด”

ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อมา 3 เดือน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงจะไม่มีโอกาสกลับมาแพร่ระบาดขึ้นอีกครั้ง คงต้องบอกว่าตอนนี้ใครการ์ดตก ต้องรีบยกขึ้นมาให้เร็ว ก่อนที่เราจะโดนหมัดฮุค ต้องรับลุกขึ้นสู้กันอีกสักครั้ง อย่ามัวแต่พลักภาระความรับผิดชอบในการป้องกันในครั้งนี้ไปให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะตอนนี้มันคือหน้าที่ของเราทุกคนที่จะช่วยกันปกป้อง “ประเทศของเรา”
หมายเหตุ
– แนวชายแดนไทย-พม่าในแผนที่นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความยาวทั้งหมด
– ชื่อสถานที่อ้างอิงจากแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 โดยกรมแผนที่ทหาร
– แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมระวางนี้แสดงไว้โดยประมาณเท่านั้น ห้ามนำไปใช้ในการพิสูจน์สิทธิ์ทางกฏหมาย

……………………………………………………………….