สถาบันการบินพลเรือน จัดเสวนาออนไลน์ “เตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมการบินสู่ยุค New Normal” ชี้อุตสาหกรรมการบินยังพร้อมเดินหน้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะเป็นหน่วยงานผลิตและพัฒนาบุคลากรการบินเพื่อสนับสนุนและพัฒนากิจการการบินของประเทศ ร่วมกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานเสวนา “เตรียมพร้อมอุตสาหกรรมการบินสู่ยุค New Normal” ขึ้น ในรูปแบบการเสวนาออนไลน์ Live สด ผ่านทาง Facebook : สถาบันการบินพลเรือน-Civil Aviation Training Center, Thailand เมื่อวันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2563 เวลา 09.50 – 11.30 น.

เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส (COVID-19) ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในอุตสาหกรรมการบิน บุคลากรด้านการบิน ในทุกกลุ่มงาน สถาบันการศึกษาที่จัดหลักสูตรด้านการบิน นักศึกษารวมถึงนักเรียนที่สนใจอาชีพในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจากสถานการณ์ในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปยังทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการบินอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินของไทย และเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้บุคลากรการบิน และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ตลอดจน เพื่อแสดงให้เห็นถึงโอกาสของอุตสาหกรรมการบินของไทยภายหลังวิกฤติโควิด-19

สบพ. จึงได้เชิญผู้บริหารจากหน่วยงานการบินและหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ประกอบด้วย ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พญ.วราลักษณ์ ตังคณะกุล รองผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คุณน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกัปตันเดชิศร์ เจริญวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาร่วมเสวนา

ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการบินเติบโตมาโดยตลอด แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจการบินต้องหยุดชะงัก ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการ ของทางภาครัฐ และการพัฒนาวัคซีน ซึ่งหากสามารถพัฒนาได้เร็วโอกาสการกลับมาฟื้นตัวก็ทำได้เร็วเช่นกัน

ฉะนั้นแล้วในภาคอุตสาหกรรมการบินเราต้องมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลาหากเปิดประเทศเมื่อไหร่ ก็ต้องพร้อมกลับมาให้บริการได้ทันที ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลก็พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ และหามาตรการเยียวยาให้ ทุกหน่วยสามารถกลับมาดำเนินงานต่อได้ ฉะนั้นแล้วในภาคธุรกิจการบินยังมีความต้องการบุคลากรอยู่ ซึ่งผมเชื่อว่าบุคลากรการบินในอนาคต

ตัวอย่างเช่น นักบิน และอาชีพอื่นๆ จะไม่ได้ต้องการคนที่มีความรู้พื้นฐานด้านการบินในเฉพาะสาขาอาชีพเท่านั้น แต่ต้องมีพื้นฐานหลายๆอย่างที่เราเรียกว่า Multi skill และในอีก 2-3 ปีข้างหน้า การเรียนการสอนของสถาบันการบินพลเรือน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์อนาคต มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ซึ่งเหมือนกับสถานการณ์ตอนนี้ ที่เราเห็นว่าทุกภาคส่วนต่างให้ความร่วมมืออย่างดี จนทำให้ประเทศของเราได้รับการยอมรับในการควบคุม โรคโควิด-19 จากทั่วโลก และเชื่อว่าในที่สุดแล้วคนไทยจะแข็งแกร่งขึ้นจากบทเรียนของโควิดในครั้งนี้ได้ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการเตรียมมาตรการต่างๆให้มีความพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของไทยให้ฟื้นกลับมาได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

คุณน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “จากการปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวที่เป็นกระแสหลักของเราคือนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 65% หายไป และตอนนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าเราจะเปิดประเทศได้เมื่อไหร่ ฉะนั้นแล้วสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ และช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 4.4 ล้านคน ให้ยังคงดำรงอยู่

โดยมีโครงการต่างๆ ออกมากระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ภายใต้ความเชื่อมั่น และให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยไม่น้อยไปกว่าด้านเศรษฐกิจ สื่อสารและทำให้คนเราไทยเราเกิดความรู้สึกร่วมที่อยากจะเดินทางอย่างปลอดภัย สร้างความภูมิใจว่าเมื่อเกิดวิกฤต คนไทยเราช่วยเหลือกัน ออกมาเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ให้คนต่างชาติเห็นและเชื่อมั่นประเทศของเรา จนทำให้ประเทศไทยเราจะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต่อไป”

พญ.วราลักษณ์ ตังคณะกุล รองผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ประเทศไทยเรามีความสามารถในการรับมือและควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี เรามีกลยุทธ์ในการป้องกันและสร้างความปลอดภัยเพื่อลดผลกระทบจากโรคโควิดอยู่ 6 กลยุทธ์สำคัญ เรียกว่า 6C Strategy เช่น การเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจหา การสื่อสาร มาตรการทางกฎหมายและการมีส่วนร่วมต่าง ๆ การร่วมกับกระทรวงต่างประเทศในการควบคุมคนเข้าประเทศ

รวมถึงทางธุรกิจการบินเองที่มีมาตรการป้องกันคนก่อนเข้าประเทศเราอย่างเข้มงวด รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมืออย่างดี ทำให้ประเทศเราสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี จึงทำให้เป็นโอกาสดีที่เราจะนำจุดแข็งด้านนี้มาพัฒนาต่อโดยการตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์ด้านสุขภาพ ที่จะเปิดต้อนรับคนต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต และด้วยความสำเร็จดังกล่าว จะส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจการบินของเรากลับมาเติบโตได้อีกครั้ง”

กัปตันเดชิศร์ เจริญวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากประสบการณ์ของสายการบินที่ผ่านมา เราเคยพบเรื่องโรคระบาดมาหลายครั้ง แต่สำหรับครั้งนี้ ถือเป็นสถานการณ์การที่รุนแรงที่สุดคือหยุดการบินไป 100% เราต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะมีข้อจำกัด ทั้งด้านกฎระเบียบด้านการบิน เศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุข เมื่อไหร่ที่เครื่องบินหยุดบิน มีพนักงาน ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจมีการลดจำนวนลงบ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมการบิน ก็ยังต้องการคนอยู่ เพราะเมื่อถึงเวลาต้องใช้แล้ว เราต้องพร้อมบินเสมอ โดยเฉพาะบุคลากรการบินที่มีความสำคัญอย่างมาก ฉะนั้นแล้วเมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค สิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของพนักงานของเรา เรามีการทำตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เช่น การให้พนักงาน work from home การเรียนออนไลน์ เป็นต้น

ฉะนั้นสำหรับน้องๆ หรือท่านที่สนใจที่จะเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมการบินยังสามารถเข้ามาได้ สำหรับอาชีพที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินยังถือเป็นอาชีพที่ยังมีความต้องการ จึงยังเป็นโอกาสสำหรับคนที่อยากเรียน เช่น นักบิน หากรักที่จะทำการบินแล้วก็ต้องไม่หยุดที่จะเดินตามความฝันต่อไปให้ได้”

นอกจากนี้แล้วภายในวงสนทนายังได้รับเกียรติจาก คุณภัคณัฏฐ์มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน พร้อมผู้บริหารสถาบันการบินพลเรือน เข้ามาร่วมชมการเสวนา ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมจากทางบ้านร่วมชมการเสวนาออนไลน์จำนวนมาก พร้อมมีประเด็นคำถามจากผู้สนใจ ในเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้วิทยากรได้ช่วยชี้แจงข้อมูล ถือเป็นการสร้างการรับรู้ การแลกเปลี่ยน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกช่องทางหนึ่งด้วย

ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นงานเสวนาออนไลน์ที่อัดแน่นไปด้วยความรู้และสาระประโยชน์อย่างมากจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ได้เห็นความร่วมมือ และสร้างความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมการบินของไทยจะกลับมารุ่งเรือง เป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามโครงการสานฝันการบิน ครั้งที่ 13 ของสถาบันการบินพลเรือน ในปี 2564 ได้ทาง www.catc.or.th

สำหรับการเสวนาในโครงการดังกล่าว สามารถรับชมย้อนหลังผ่านทาง Facebook ตาม URL นี้ : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=694274724767105&id=228533160516634

………………………………………………………….