‘ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก’ หารือ สกสว. และ 7 หน่วยให้ทุนวิจัย เน้นย้ำบูรณาการทำงาน เร่งเครื่องพัฒนาระบบวิจัยตอบโจทย์การแก้ปัญหาประเทศ

‘ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก’ ร่วมหารือ สกสว. และ 7 หน่วยบริหารจัดการทุน เน้นย้ำบูรณาการการทำงานหนุนการพัฒนาระบบวิจัยใหม่ ให้มีประโยชน์ตอบโจทย์ประเทศ รักษาการ ผอ.สกสว. เผยผลการจัดสรรงบประมาณวิจัยปี 63 ปรับแผนสอดรับแก้โควิด -19 พร้อมระดมหน่วยงานผนึกกำลังกันทำงาน

14 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม “รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พบ สกสว. และหน่วยบริหารจัดการทุน (PMUs)” ณ อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมี ศาสตราจารย์ นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สกสว. ให้การต้อนรับ

โดยการประชุมครั้งนี้เป็นไปเพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลด้านผลการดำเนินงานของปีบประมาณ 2563 และแผนการจัดสรรทุนของปีงบประมาณ 2564 ของแต่ละหน่วยงาน ให้ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก รับทราบในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนใหม่ เพื่อประโยชน์ในการออกแบบนโยบายและบูรณาการทำงานร่วมกันในการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (ววน.)

ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก กล่าวว่า จากการจัดตั้งกระทรวง อว. ได้เกิดโครงสร้างใหม่ที่มีการตั้งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ตลอดจนเกิดหน่วยงานใหม่ขึ้นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงภารกิจของหน่วยงานเดิม เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ออกแบบการทำงานให้มีความคล่องตัวจึงมีการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศ ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)

ซึ่ง สกสว. เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการกองทุน กลไกดังกล่าวถือเป็นปัจจัยในการผลักดันให้เกิดการวิจัยในลักษณะจะจัดเป็นทุนก้อนระยะยาวที่ไม่ใช่ปีต่อปี (Block Grant และ Multiyear) มีกระบวนการติดตามและประเมินผลวิจัยตามเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่จะทำให้จัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศได้อย่างตรงเป้าหมาย ตอบโจทย์ และใช้ประโยชน์กับประเทศได้จริง

ในฐานะที่ผมได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอขอบคุณ สกสว. และผู้บริหารหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMUs) ทั้ง 7 แห่ง และสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ที่ทำงานอย่างเต็มที่ในปีที่ผ่านมา ผมอยากเห็นความร่วมมือของทุกท่านในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กระทรวง อว. เป็นกระทรวงแห่งปัญญา กระทรวงแห่งโอกาส และกระทรวงแห่งอนาคต

ด้าน รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล รักษาการผู้อำนวยการ สกสว. ได้ชี้แจงข้อมูลในที่ประชุมรับทราบถึงผลการดำเนินงานสำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของ สกสว. ในปีที่ผ่านมา ซึ่ง สกสว. ได้จัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ทั้งในส่วนของปี 2563 และ ปี 2564 เสร็จแล้ว โดยในปีนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตโควิด 19 ทำให้มีการเพิ่มเติมแผนจาก 16 โปรแกรมเป็น 17 โปรแกรม โดยโปรแกรมที่ 17 คือ “การแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ”

โดยมีเป้าหมายในการสร้างชุดความรู้ ระบบข้อมูลและใช้นวัตกรรมในการลดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ และให้ทิศทางกับหน่วยบริหารจัดการทุน (PMUs ) ต่างๆ ของประเทศในการปรับการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้จัดทำรายงาน “สถานการณ์ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย” เพื่อนำไปสู่การเสนอนโยบายที่เหมาะสม

ในส่วนของการบริหารจัดการระบบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2563 มีการจัดสรรงบประมาณปี 2563 จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุน ววน. วงเงินกว่า 12,544 ล้านบาท ให้กับหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) จำนวน 7 แห่ง และหน่วยรับงบประมาณในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 58 หน่วยงาน

นอกจากนี้ สกสว. ยังได้ร่วมมือกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (NRIIS) ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศกลางของประเทศที่เชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการงบประมาณด้าน ววน. ในทุกระดับให้เป็นระบบเดียว คือ ฐานข้อมูลงานวิจัย ฐานข้อมูลนักวิจัย ฐานข้อมูลเครื่องมือการวิจัย และฐานข้อมูลการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยเป็นการทำงานแบบทันเวลา (Real Time Management) ที่แต่ละภาคส่วนของการบริหารจัดการวิจัยสามารถเข้าถึงได้

ในมิติการพัฒนาระบบและเครือข่ายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะทำงานได้ทำการศึกษาสถานภาพความเข้มแข็ง จุดแข็ง จุดอ่อน รวมทั้งอุปสรรคของระบบบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยบริหารและจัดการทุน สังเคราะห์ชุดความรู้ด้านการบริหารจัดการงานวิจัย ออกแบบหลักสูตรอบรมบุคลากรด้านงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเผยแพร่เป็นความรู้ให้แก่หน่วยงานในระบบ ววน. สร้างแนวทางและหลักเกณฑ์ในการติดตามประเมินผลหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณวิจัย

โดยการศึกษาข้อมูลรูปแบบการติดตามและประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมของสหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ รวมถึงหน่วยงานให้ทุนวิจัยในระดับประเทศ อาทิเช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วช. ตลอดจนขับเคลื่อนให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ให้ประชาคมวิจัยตลอดจนสาธารณชนได้รับทราบ

ทั้งนี้ การทำงานตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา จะสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในระบบ ววน. ทั้ง สอวช. และหน่วยบริหารจัดการทุน (PMUs) ทั้ง 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย

1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

2. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

3. สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.)

4. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)

5. หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

6. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ

7. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่ทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อร่วมมือกันในการพัฒนาระบบ ววน. อย่างยั่งยืน

…………………………………………………………………………….