กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำวิธีค้นหามะเร็งผิวหนังด้วยตนเอง มะเร็งผิวหนังบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบในระยะเริ่มแรก และจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยผู้ป่วยอาจไม่ต้องเสี่ยงกับการรักษามะเร็งในรูปแบบที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย พร้อมแนะนำวิธีดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งผิวหนัง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ผิวหนังเกิดได้หลายชนิด ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของผิวหนังนั้นๆ ดังนั้นความร้ายแรงจึงขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งด้วย ถึงแม้ว่ามะเร็งผิวหนังอาจจะไม่ร้ายแรงเหมือนมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณอื่น แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานก็มีโอกาสกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ได้
อย่างไรก็ตาม หากสามารถค้นหามะเร็งผิวหนังได้ในระยะเริ่มต้น การรักษาให้หายขาด และมีประสิทธิภาพก็ยิ่งทำได้ดีมากขึ้น โดยสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง เกิดได้หลายปัจจัย ได้แก่ แสงแดด การได้รับสารเคมีบางชนิด แผลเรื้อรัง และโรคทางพันธุกรรมบางชนิด
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังต้องได้รับการตรวจชิ้นเนื้อผิวหนังทางพยาธิวิทยา โดยเป็นการตรวจดูเซลล์ที่เป็นมะเร็งโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ในบริเวณที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งผิวหนัง เราสามารถค้นหามะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้นด้วยตัวเองง่ายๆ ดังนี้
1.มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเป็นก้อนนูนที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วหรือขยายขนาดอย่างรวดเร็ว อาจมีอาการปวดหรือไม่ปวดก็ได้
2.ก้อนที่ผิวหนังที่มีแผลเกิดขึ้น หรือมีเลือดออกได้ง่าย
3.แผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย หรือแผลที่เกิดขึ้นบริเวณที่เป็นแผลเป็น หรือบริเวณแผลไฟไหม้มาก่อน
4.รอยโรคที่มีสีดำหรือน้ำตาลที่ขอบเขตไม่ชัดเจนและมีแผลเกิดขึ้น
5.ไฝที่มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง สีมีการเปลี่ยนแปลงทั้งที่มีสีขาวเกิดขึ้น หรือสีน้ำตาลดำไม่สม่ำเสมอ มีแผลเกิดขึ้น หรือมีเลือดออกง่าย โดยเฉพาะบริเวณมือและเท้าในคนเอเชีย
6.ผื่นเรื้อรังที่มีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเนื้อนูนขึ้นมา
เมื่อค้นพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงบริเวณผิวหนังดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อวางแผนแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ประชาชนสามารถดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งผิวหนัง ได้ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงจากแสงแดดซึ่งเป็นการป้องกันมะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุด
2.หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง เช่น ไม่รับประทานยาที่มีส่วนผสมของสารหนู
3.หมั่นสังเกตความผิดปกติของไฝหรือขี้แมลงวัน หากมีความผิดปกติ เช่น ไฝที่เป็นมีผื่นหรือก้อนที่โตเร็วกว่าปกติ มีสีเปลี่ยน, มีแผลเรื้อรังที่ไม่หายและขยายออก ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
4.ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน
5.สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด สวมหมวกปีกกว้าง หรือกางร่ม
6.ควรเริ่มป้องกันแสงแดดตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อป้องกันมะเร็งผิวหนังในระยะยาว
……………………………………………………………