นายลิขิต วรานนท์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาดาวเทียมเล็ก หรือ THEOS-2 SmallSAT ซึ่งเป็นอีก 1 ในภารกิจสำคัญที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือTHEOS-2 ของประเทศไทย ที่ดำเนินงานโดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า ทีมเราเริ่มออกแบบและพัฒนามาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2562 โดยมีวิศวกรไทยจำนวน 19 คน เข้าร่วมปฏิบัติงานตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ณ เมืองกิลฟอร์ด สหราชอาณาจักร ซึ่งขั้นตอนการพัฒนาดาวเทียมเล็ก ได้ผ่านขั้นตอนการออกแบบที่สำคัญมาแล้ว อาทิ การออกแบบเบื้องต้น Preliminarily Design Review (PDR) และการออกแบบละเอียด Critical Design Review (CDR) ตลอดจนการผลิต และทดสอบอุปกรณ์ย่อย (Sub-system) จนผ่านการทดสอบในด่าน Module Readiness Review (MRR) เพื่อมั่นใจว่าพร้อมในการประกอบเป็นดาวเทียมหนึ่งดวง ในอาคารประกอบและทดสอบดาวเทียม ณ สหราชอาณาจักร (Assembly Integration and Test : AIT) ทั้งนี้โครงการฯ มีแผนจะส่งดาวเทียมมาประกอบและทดสอบ ณ อาคาร AIT ในประเทศไทยด้วย ช่วงปลายปี 2564 เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ทั้งศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนาดาวเทียมดวงต่อไปในประเทศไทย
นายลิขิตฯ เปิดเผยต่อว่า ปัจจุบันสถานการณ์การติดเชื้อ Covid-19 ในประเทศอังกฤษ ยังคงมีจำนวนสูง และมีแนวโน้มที่จะเกิดระลอก 2 แต่ด้วยกำหนดระยะเวลาการส่งมอบดาวเทียมที่กระชั้นเข้ามา จึงทำให้วิศวกรไทยต้องเริ่มกลับเข้ามาปฏิบัติงาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ SSTL อีกครั้ง ภายใต้มาตรการการป้องกันอย่างเข้มงวดมากๆ เพื่อดำเนินการทดสอบอุปกรณ์ และประกอบดาวเทียมในอาคาร AIT ณ สหราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์ Power Distribution Module (PDM) ซึ่งเป็นอุปกรณ์แรกที่เข้าประกอบ ได้ดำเนินการติดตั้งเป็นที่เรียบร้อย และสามารถเชื่อมต่อกับระบบ Electrical Ground Support Equipment (EGSE) เพื่อใช้ในการตรวจสอบสถานะ ควบคุม อุปกรณ์บน flat-sat ซึ่งเปรียบเสมือนระบบควบคุมดาวเทียมภาคพื้นดินชุดนึงได้อย่างสมบูรณ์
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบ Battery Charge Module (BCM) ที่ควรจะติดตั้งพร้อม PDM นั้น ยังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายสำหรับทดสอบ จึงยังไม่ได้ติดตั้งพร้อมกับ PDM ณ เวลานี้ และใช้ระบบจ่ายไฟผ่าน power supply เพื่อทดแทนชั่วคราวไปก่อน หลังจากนั้น ถึงจะติดตั้งอุปกรณ์ Core Data Handling System (CDHS) ซึ่งเป็นระบบควบคุมกลางของดาวเทียม แต่ CDHS เวอร์ชั่นนี้มีความพิเศษที่ SSTL ออกแบบให้มีระบบ Data handling Unit, GNSS Receiver, S-band transceiver และ ADCS unit อยู่ใน Electronic Board เดียวกัน เมื่อติดตั้ง และเชื่อมต่อกับ PDM และ EGSE ได้สมบูรณ์แล้ว จึงจะติดตั้งและเชื่อมต่อระบบตรวจจับและควบคุมการทรงตัว Attitude Determination Control System (ADCS) โดยเริ่มตั้งแต่ Magnetometer ที่ใช้วัดสนามแม่เหล็กโลก, Gyro ที่ใช้วัดการทรงตัวเชิงมุม Row, Pitch, Yaw ของดาวเทียม, Magnetorquer Rod ที่ใช้ในการรักษาการทรงตัวดาวเทียมจากแรงสนามแม่เหล็ก
“ปัจจุบันเรากำลังดำเนินการในขั้นตอนติดตั้ง และเชื่อมต่อ Star tracker ที่ใช้ในการอ้างอิงตำแหน่งดวงดาวเพื่อให้การควบคุมการทรงตัวมีความแม่นยำมากขึ้น โดยแผนการติดตั้งอุปกรณ์ต่อไปจะเป็น BCM และ Battery เพื่อให้ระบบดาวเทียมบน Flat-sat เป็นเสมือนการใช้พลังงานจริงเมื่ออยู่บนอวกาศ”
นอกจากนี้ ทีมวิศวกรไทยยังได้รับมอบหมายให้ออกแบบ และพัฒนาเพย์โหลดที่ 3 (3rd payload) ซึ่ง SSTL ให้เราดำเนินการเองทั้งหมด ตั้งแต่การเขียน proposal ตลอดจนออกแบบ พัฒนา และทดสอบ รวมถึงประกอบเข้ากับดาวเทียม ซึ่งโดยหลักการ 3rd payload เป็นการเลือกใช้ Commercial off-the-shelf (COTS) เช่น Raspberry PI, กล้องสำหรับ Raspberry PI, Magnetometer และ Gyro ที่ใช้ใน UAV รวมถึง GNSS Receiver ราคาถูก ที่ปลดล็อก COCOM แล้ว โดยในครั้งนี้ทีมวิศวกรไทยของเราได้พัฒนา sun sensor เองทั้งหมด ที่ใช้งานกับ 3rd payload นี่ด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ของ 3rd payload เน้นการเรียนรู้ผ่าน Project-based Learning และจำลอง 3rd payload ให้เหมือนดาวเทียม 1 ดวง ที่สามารถถ่ายภาพได้ มี ADCS unit ซึ่งเมื่อดำเนินการสำเร็จ 3rd payload จะสามารถประยุกต์ใช้เป็น base learning สำหรับ นักเรียน นักศึกษาได้อีกด้วย
“ทั้งหมดนี้ ทีมเราต้องดำเนินการภายใต้กระบวนการพัฒนาที่ควบคุมมาตรฐานตามแบบของ SSTL ซึ่งปัจจุบันเราได้ผ่านขั้นตอนควบคุมคุณภาพ ทั้ง PDR, CDR ตลอดจน Manufacturing Readiness Review (MRR) จน SSTL มีความมั่นใจและอนุญาตให้ทีมเราสามารถสั่งของได้ ปัจจุบันของทั้งหมดถูกส่งมาถึง SSTL แล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบอุปกรณ์เบื้องต้นตาม Acceptance test procedure ที่ทีมเราเขียนกันขึ้นมาเอง และได้รับอนุมัติจาก SSTL แล้ว”
ขั้นตอนต่อไป แน่นอนว่าจะเป็นการนำเสนอแผนการทดสอบระบบ module อย่างเช่น Functional test, Thermal cycling test และ Vibration test ตามด่านการตรวจสอบ Test Readiness Review (TRR) สำหรับ 3rd payload ที่เป็น Engineering Qualification Model (EQM) และเมื่อผ่านแล้วจึงจะสามารถสร้าง Flight model เพื่อประกอบกับดาวเทียม THEOS-2 SmallSAT ได้ ซึ่งตามกำหนดการ 3rd payload และ Customer Engineer Sun sensor จะประกอบเข้ากับดาวเทียมประมาณธันวาคมปีนี้ นายลิขิตฯ กล่าว