กรมควบคุมโรค เผยผลงาน “รูปแบบการจัดการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานคร” หลังการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยลดลง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยผลงาน “รูปแบบการจัดการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานคร เป็นที่น่าพอใจ หลังการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 2แห่ง ทั้งในเขตลาดกระบังและเขตทุ่งครุ พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยและอัตราป่วยลดลง ทำให้โครงการดังกล่าวได้รับรางวัลผลงานคุณภาพ ประจำปี พ.ศ.2561 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ

วันที่ 1 ตุลาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีนี้กรมควบคุมโรค ได้รับรางวัลผลงานคุณภาพ ประจำปี พ.ศ.2561 จำนวน 9 รางวัล จากสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ และถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้ส่วนราชการต่างๆ ที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่พึงพอใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือผลงาน “รูปแบบการจัดการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานคร” (BDU) ของสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง โดยได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐแห่งชาติ ระดับดี ประเภทนวัตกรรมการบริหาร

โดยผลงาน “รูปแบบการจัดการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานคร” (Bangkok Dengue Unit : BDU)  ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของเครือข่ายและทำงานเป็นทีม สืบเนื่องจากสภาพพื้นที่ในเขตเมืองของกรุงเทพฯ คือผู้ป่วยร้อยละ 60 รักษาในโรงพยาบาลเอกชน ไม่มีการรายงาน การรายงานผู้ป่วยไม่ทันเวลาทำให้ไม่สามารถลงไปสอบสวนได้ ประชาชนขาดความรู้ และไม่มีส่วนร่วมในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย และไม่ทราบระดับความเสี่ยงของการเกิดโรค  ดังนั้น จึงได้ดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ให้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน แจ้งข่าวเร็วและเข้าควบคุมโรคได้เร็ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ เพื่อช่วยลดการป่วยจากโรคติดต่อที่นำโดยแมลง

ในการดำเนินงานครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก คือ 1.พัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี โดยมี ชุดซอฟต์แวร์ ทันระบาด  Application “พิชิตลูกน้ำยุงลาย” และแผนที่รัศมี100เมตร  2.การเฝ้าระวัง ควบคุมความเสี่ยงไข้เลือดออก โดยใช้ ตารางประเมินระดับความเสี่ยงการเกิดโรคไข้เลือดออก เช่น ค่าดัชนีความชุกลูกน้ำยุงลายในบ้าน(HI) ค่าดัชนีความชุกลูกน้ำยุงลายในภาชนะซึ่งใช้กับ โรงเรียน วัด โรงงาน โรงพยาบาล(CI) ปริมาณน้ำฝน ค่าดัชนีสิ่งแวดล้อม  3.มาตรการตามบริบทของพื้นที่ โดยใช้การแบ่งพื้นที่ตามลักษณะชุมชนเป็น 5 ชุมชนและกำหนดมาตรการตามบริบทของพื้นที่ ที่เหมาะสมตามบริบท ในการป้องกันควบคุมโรค และ 4.การสื่อสารความเสี่ยงและประเมินผล โดยใช้สื่อ ประชาสัมพันธ์ เช่น อินโฟกราฟิก แผ่นพับ โปสเตอร์ ผ่านช่องทางข่าว สังคมออนไลน์ สื่อภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย

ด้านนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ในส่วนของพื้นที่นำร่องการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในเขตกรุงเทพมหานคร ปี 2560 คือ เขตลาดกระบังและเขตทุ่งครุ โดยแบ่งตามประเภทชุมชนเขตเมือง 5 ชุมชน ดังนี้ 1.ชุมชนอาคารสูง เช่น อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม  2.ชุมชนที่มีการจัดสร้างขึ้นตามกฎหมาย เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์  3.ชุมชนแออัด เช่น อาคารพาณิชย์ แค้มป์คนงานก่อสร้าง 4.ชุมชนชานเมือง ได้แก่ ชุมชนที่มีพื้นที่ด้านเกษตรกรรม มีบ้านเรือนไม่แออัด และ 5.ชุมชนพิเศษ ได้แก่ โรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน สถานประกอบการ ศาสนาสถาน (วัด มัสยิด โบสถ์) หน่วยงานราชการ/เอกชน

ผลการดำเนินงานครั้งนี้ พบว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและครู มีความพึงพอใจต่อชุดซอฟต์แวร์ “ทันระบาด” ร้อยละ 97 และประชาชนมีความพึงพอใจต่อแอปพลิเคชั่น “พิชิตลูกน้ำยุงลาย” ร้อยละ 79  นอกจากนี้ยังพบว่าภายหลังการดำเนินงาน ทำให้จำนวนผู้ป่วยและอัตราป่วยลดลงอย่างชัดเจน  เห็นได้จากข้อมูลในปี 2559 เทียบกับปี 2560 ดังนี้ เขตลาดกระบัง ผู้ป่วยไข้เลือดออก 182 ราย ลดลงเหลือ 146 ราย  อัตราป่วย(ต่อประชากรแสนคน) 107.01 ลดลงเหลือ 85.85  ส่วนเขตทุ่งครุ ผู้ป่วยไข้เลือดออก 104  ราย ลดลงเหลือ 77 ราย อัตราป่วย(ต่อประชากรแสนคน)  86.23 ลดลงเหลือ 63.84  และในปี 2561 นี้ได้ดำเนินการขยายผลและนำรูปแบบการดำเนินงาน (BDU)  ไปใช้ในพื้นที่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ และเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ   รวมทั้งเผยแพร่แนวทางการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในเขตเมืองสู่หน่วยงานเครือข่ายอื่นๆ ต่อไป

*******************************************************
ข้อมูลจาก: สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค