กสม. ผลักดันธุรกิจโรงแรมไทยและการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต สู่ต้นแบบการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน

วันที่ 27 กันยายน 2561 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ธุรกิจการโรงแรมไทยและท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต สู่ต้นแบบการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับ
สิทธิมนุษยชน” ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต โดยมีนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมด้วยนางภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา ผู้บริหารธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดทะเลอันดามัน เข้าร่วมการสัมมนากว่า 200 คน

นายวัส กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมไทยกับการเคารพสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ธุรกิจและสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพราะภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันสิทธิมนุษยชนคือการดูแลทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม ดังนั้นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นการสร้างความเจริญเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและสร้างความเป็นธรรมในสังคมควบคู่กันอย่างสมดุล สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs : Sustainable Development Goals) ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ เป้าหมายดังกล่าวเปรียบเสมือนแผนแม่บทระดับโลกที่กำหนดทิศทางการพัฒนาในระยะ 15 ปีข้างหน้า

ประธาน กสม. กล่าวว่า การดำเนินกิจการของภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติ ตลอดไปจนถึงผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
ในประเทศไทย ซึ่ง กสม. ได้จัดทำโครงการเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ และได้กำหนดให้ “ธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต” เป็นโครงการนำร่องในการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนภายใต้ 3 เสาหลัก คือ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา

“ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน พฤติกรรมการซื้อสินค้าหรือบริการโดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มประเทศตะวันตก ไม่ได้คำนึงเพียงคุณภาพของสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่ยังดูตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงระดับนโยบายว่ามีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน การใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานบังคับ หรือการประกอบธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนหรือไม่ หากบริษัทหรือโรงแรมใดมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ ผู้บริโภคก็อาจไม่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการแม้ว่าจะมีคุณภาพดีก็ตาม และอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพของตลาดการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายวัส ระบุ

นายวัส กล่าวด้วยว่า การสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมในพื้นที่กลุ่มทะเลอันดามันและอ่าวไทย จะได้เรียนรู้และเป็นตัวอย่างที่ดีของการผนวกเอาหลักการชี้แนะฯ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของบริษัทอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยลดปัญหาสังคมทั้งในเรื่องของปัญหาแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ประโยชน์
จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่กระทบต่อวิถีของชุมชนในพื้นที่ คนในสังคมก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิด
ความขัดแย้ง สามารถสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ตนเชื่อว่า การทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนจะเป็นผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว เป็นการส่งเสริมการเติบโตของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมอย่างมั่นคง (stable) และยั่งยืน (sustainable) ทำให้ธุรกิจเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อันจะเป็นผลดียิ่งต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย

 

นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า กสม. ได้กำหนดให้ธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตเป็นโครงการนำร่องในการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙
ในชั้นต้นมีโรงแรมที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการจำนวน ๕ กลุ่มโรงแรม โดยแต่ละแห่งได้มีการดำเนินกิจการตามคู่มือประเมินผลสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human rights due diligence handbook) และรายการตรวจสอบ (Checklist) ของธุรกิจการโรงแรมที่ กสม. จัดทำขึ้น ทั้งนี้ กสม. จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อขยายผลโครงการนำร่องไปยังโรงแรมและธุรกิจการท่องเที่ยวทั่วประเทศ ตลอดทั้งผู้ประกอบการธุรกิจในสาขาต่าง ๆ ให้นำหลักการชี้แนะฯ และคู่มือประเมินผลฯ มาปรับใช้ อันจะช่วยสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแท้จริง