นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ติดตามความก้าวหน้าแผนพัฒนาการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา

วันที่ 24 สิงหาคม 2563 นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมและคณะทำงาน เดินทางมาตรวจราชการและติดตามความก้าวหน้าแผนพัฒนาการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา เพื่อรับฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรทรวงคมนาคมด้านการขนส่งทางอากาศ ร่วมให้การต้อนรับ ในการนี้ พลเรือโทกฤชพล เรียงเล็กจำนงค์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นผู้แทนกองทัพเรือกล่าวต้อนรับ ณ ห้องประชุมสถานีการบิน กองการบินทหารเรือ จังหวัดระยอง

ในโอกาสนี้ นายถาวร เสนเนียมได้ร่วมประชุมและรับทราบแผนพัฒนาการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา และลงพื้นที่สำรวจโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก พร้อมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการศึกษารูปแบบการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาเพื่อการพัฒนาขนส่งทางอากาศในอนาคต โดยสถาบันการบินพลเรือนได้เรียนเชิญนายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มาบรรยายสรุปเกี่ยวกับแผนพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา และนายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด บรรยายสรุปรายงานความคืบหน้าแผนงานการให้บริการเดินอากาศของสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาตะวันออก (สกพอ.) ได้กล่าวถึงแผนพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาว่าการดำเนินงานด้วย วิธีการลงทุน PPP ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและคล่องตัว ความเชี่ยวชาญจากเอกชน และคุณภาพในการให้บริการ ลดภาระการลงทุนและการใช้ทรัพยากรของรัฐ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการลงทุนของรัฐทุก ๆ ด้าน และสามารถนำเทคโนโลยี ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากเอกชนที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการ โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อเป็น EEC Airport การเป็นสนามบินระดับโลก การเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค (Aviation Hub) รวมทั้งรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน (3rd Bangkok Airport) และการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีแก่บุคลากร (Technology) ทั้งนี้ จากผลการศึกษาด้านการเงิน โครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินภาคตะวันออกมีมูลค่าเงินลงทุนโครงการ จำนวน 293,699 ล้านบาท และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2568

ในส่วนของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้รายงานต่อ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงขอบเขตความรับผิดชอบของ บวท. แผนการดำเนินโครงการ ความคืบหน้า พร้อมทั้งปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ โดย บวท. ซึ่งมีหน้าที่เตรียมการเพื่อจัดให้มีบริการจราจรทางอากาศและระบบเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศเพื่อรองรับการ เปิดใช้งานเฟสใหม่ อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และกลุ่ม UTA (บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด) เพื่อกำหนดพื้นที่ในการก่อสร้างหอบังคับการบินและจุดวางตำแหน่งระบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ในสนามบิน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อ บวท. จะได้ดำเนินการขอความเห็นชอบการลงทุนและเริ่มดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

อีกทั้ง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือกับกองทัพเรือเพื่อเตรียมการถ่ายโอนงานและบุคลากรให้สามารถเตรียมการได้ทัน รวมถึงการจัดทำข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภามีขีดความสามารถสูงสุดทั้งในภารกิจด้านความมั่นคงของกองทัพเรือและด้านการบินเชิงพาณิชย์ สำหรับการเข้าดำเนินงานของ บวท. ครั้งนี้ มีการจัดเตรียมเทคโนโลยีและระบบอุปกรณ์ทันสมัยต่าง ๆ ที่มีมาตรฐานและศักยภาพระดับสากลเข้าใช้งาน เพื่อให้เชื่อมโยงเข้ากับระบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ (TMCS : Thailand Modernization CNS/ATM System) ซึ่งเพิ่งเปิดใช้งานพร้อมกันทั่วประเทศไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเข้ากับระบบควบคุมจราจรทางอากาศเขตสนามบินและเขตประชิดสนามบินของดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เพื่อให้เป็นสามสนามบินหลักในพื้นที่ส่วนกลางของประเทศที่อยู่ภายในเขตบริหารจัดการเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งสามสนามบินมีความสะดวกคล่องตัวลดปัญหาความล่าช้าและมีประสิทธิภาพการบินดียิ่งขึ้น

สำหรับแผนพัฒนาการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภาของสถาบันการบินพลเรือน นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการ ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวตามที่ได้ดำเนินการศึกษา สำรวจและออกแบบงานก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมฯไปแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนแผนบริหาร การจัดการของโครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ การประมาณความต้องการการฝึกอบรม และแผนธุรกิจ

รวมถึงความเหมาะสมของขนาดการลงทุนและแนวทางการเพิ่มรายได้ ตามข้อสังเกตของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ สบพ. ให้มีความเห็นชอบในแนวทางการทบทวน โดยว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ และที่ปรึกษาสำหรับโครงการออกแบบงานก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภาเข้ามาดำเนินงานในปีงบประมาณ 2564 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ และงานออกแบบต่อคณะกรรมการ สบพ. เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีตามลำดับต่อไป

ตามแผนการดำเนินงานเดิมการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฯดังกล่าวจะดำเนินคู่ขนานไปกับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาของ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) (TG MRO) แม้ว่าบริษัทแอร์บัส ประเทศฝรั่งเศส
จะไม่มาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวแล้ว บริษัทการบินไทยฯ จะมีการปรับรูปแบบโครงการให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป และในส่วนของ โครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาตะวันออก (สกพอ.) ได้มีหนังสือยืนยันให้ สบพ.ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในโครงการฯดังกล่าวต่อไป โดยให้ สบพ. พิจารณาการดำเนินขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และดำเนินโครงการตามแผนให้สอดคล้องกับแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมรับนักศึกษาในปี 2568

สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ตามที่ สบพ. ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ได้ดำเนินการแล้วสรุป ดังนี้
– มีการสำรวจพื้นที่ จำนวน 96 ไร่ ที่ได้รับการจัดสรรตามโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินจากกองทัพเรือ
– การสำรวจด้านปฐพีกลศาสตร์ (การเจาะสำรวจดิน ขุดเก็บตัวอย่างดินจากหลุมทดสอบ งานทดสอบดินด้วยวิธีอัดความดัน ผลการทดสอบในสนาม และในห้องปฏิบัติการ
– การวางผังอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน
– การออกแบบตัวอาคารเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของ ICAO ทั้งในเรื่องความสูงของตัวอาคารและมาตรการการควบคุมความปลอดภัย นอกจากนั้น ยังยึดหลักตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยกาควบคุมอาคารอื่น ๆ ของประเทศไทย มาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน กฎหมายว่าด้วยการผลิตพลังงานควบคุม กฎหมายว่าด้วยการสงเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และสถาบันอาคารเขียวไทยและ หรือเกณฑ์มาตรฐานของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design)

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมพื้นที่โครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภาและ พื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา

…………………………………………………..