วันที่ 24 สิงหาคม 2563 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงตรวจราชการชายฝั่งและประมงท้องถิ่น 3 จุด
🔹จุดที่ 1 เวลา 14:30-15:00 น. ณ เทศบาลตำบลพลา หมู่ 5 อ.บ้านฉาง ระยอง
ปัญหาท่าเรือบ้านพลา มีสภาพทรุดโทรม แตกร้าว ไม่ปลอดภัยในการใช้งาน เดิมรองรับเรือประมงขนาดเล็ก กินน้ำลึก 1.5 เมตร ประมาณ 200 ลำ กรมประมงได้ก่อสร้างไว้นานแล้ว ปัจจุบันไม่ทราบผู้บริหารที่แน่ชัด
ชาวประมงในพื้นที่ ขอให้รื้อและสร้างท่าเรือใหม่ที่จุดเดิม ยาวออกไปหาแนวน้ำลึก มีบันไดหรือทางลาดปรับระดับ เพื่อความสะดวกในการใช้งานเทียบเรือ
🔸แนวทางดำเนินการ
1. ประสานผู้บริหารท่าเรือเพื่อขออนุญาตเข้าปรับปรุง และตรวจสอบความต้องการใช้ท่าเรือ
2. ตรวจสอบเขตอนุรักษ์ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3. สำรวจ ออกแบบ และประมาณราคา
4. ตั้งงบประมาณและดำเนินการก่อสร้าง
5. งบปรับปรุงท่าเรือ 50 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 540 วัน ปีงบประมาณ 65-66
🔹จุดที่ 2 เวลา 15:00-15:20 น. ณ เทศบาลตำบลบ้านฉาง ม.4 หาดพยูน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง
ปัญหาขาดท่าเรือที่รองรับการขนส่งทางน้ำ การประมงและการท่องเที่ยว ชุมชนต้องการท่าเรือแห่งใหม่ ลักษณะเป็น คสล. รูปตัวที พร้อมศาลาพักคอยพร้อมห้องน้ำและลานกิจกรรม
🔸แนวทางดำเนินการ
1. มอบกรมเจ้าท่าพิจารณาสนับสนุนออกใบอนุญาตให้เป็นตามกรอบของกฎหมาย
2. ตรวจสอบความต้องการใช้ท่าเรือ และผู้บริหารท่าเรือ
3. ตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ตรวจสอบเขตอนุรักษ์ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4. สำรวจ ออกแบบ และประมาณราคา
5. ของบประมาณก่อสร้าง 80 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 540 วัน ปีงบประมาณ 65-66
🔹จุดที่ 3 เวลา 15:20-15:40 น. ณ ริมชายฝั่ง หาดหนองแฟบและหาดสนกระซิบ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง
ชายหาดสนกระซิบและหนองแฟบ ยาว 1.6 กม. พบปัญหากัดเซาะชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่าอยู่ในระบบหาดแม่รำพึง-มาบตาพุด สามารถใช้มาตราการสีขาว สีเขียวและสีเทา ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่าร่วมรับผิดชอบ
🔸แนวทางดำเนินการ
1. กรมโยธาธิการฯ ได้รับงบประมาณก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายหาดหนองแฟบและหาดสนกระซิบ ปีงบประมาณ 64-66 วงเงิน 60 ล้านบาท ระยะทาง 600 เมตร ลักษณะเป็นโครงสร้างเขื่อนแข็ง (Hard Solution) ซึ่งจะได้นำรูปแบบลงไปสรุปกับประชาชนในวันที่ 27 ส.ค. 63
2. หากผู้มีส่วนได้เสียกับชายหาดดังกล่าว มีความประสงค์จะแก้ไขปัญหาด้วยรูปแบบอ่อน (Soft Solution) เช่น การเสริมทรายชายหาด (Beach Nourishment) เหมือนชายหาดพัทยา จ.ชลบุรี มอบกรมเจ้าท่าตรวจสอบสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ศึกษาความเหมาะสม สำรวจออกแบบและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเสริมทราย
โดยจะจ้างที่ปรึกษาในงบ 15 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 540 วัน ปีงบประมาณ 65-66 (2 กม.)
ภายหลังการแก้ไข ชุมชนพี่น้องประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวจะได้รับความปลอดภัยจากภัยพิบัติน้ำทะเลกัดเซาะ กระตุ้นเศรษฐกิจประมงชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้แก่ท้องถิ่นและชุมชนโดยรอบ
………………………………………………………………………