เมื่อมอง “ระยอง” ด้วยภาพจากดาวเทียม

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยภาพพื้นที่บางส่วนของจังหวัดระยอง แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เปรียบเทียบย้อนหลังไป 10 ปี ชี้ได้ชัดว่า ระยองเติบโตอย่างรวดเร็ว สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศแทบทุกชนิด อีกทั้ง ปัจจุบันรัฐบาลมองเห็นศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจของภาคตะวันออก จึงมีแนวคิดที่จะสร้างเมืองใหม่ในภาคตะวันออก ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อรองรับและสนับสนุนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ เป็นศูนย์บริการมาตรฐานการศึกษาและวิจัย รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม

ภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชต (THEOS) เปรียบเทียบช่วงเวลา 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2553 จนถึง พ.ศ.2562 นอกจากจะเห็นถึงการขยายตัวของเมืองแบบก้าวกระโดด จากเดิมที่เป็นเมืองที่มีฐานในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตร กลายมาเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ สิ่งปลูกสร้างผุดขึ้นใหม่มามากมาย พื้นที่เมืองเดิมมีการขยายอาณาเขตออกไป นอกจากนี้ ยังเกิดเป็นชุมชนใหม่และมีการตั้งถิ่นฐานในหลายพื้นที่ของตัวจังหวัด ขณะเดียวกันเส้นกราฟแสดงรายได้ของจังหวัด (GPP) และมูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมก็มีค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จังหวัดระยองจึงถือว่ามีความสำคัญอีกจังหวัดหนึ่งของประเทศที่มีการยกระดับการพัฒนาในทุกมิติ

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า GISTDA ได้นำนวัตกรรมมาช่วยในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยร่วมกับจังหวัดในพื้นที่ EEC และจังหวัดใกล้เคียง (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) พัฒนาและติดตั้งระบบการตัดสินใจและบริหารเชิงพื้นที่แบบองค์รวมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ระบบดังกล่าวได้เพื่อรวบรวมเอาข้อมูลภูมิสารสนเทศที่จำเป็นต่อการตัดสินใจในการบริหารจัดการพื้นที่ เช่น พื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่เพาะปลูก แหล่งน้ำ เป็นต้น อีกทั้งยังสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมจากจังหวัดใน EEC และจังหวัดใกล้เคียงในการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศดังกล่าว จากการดำเนินงานที่ผ่านมา จังหวัด “ระยอง”มีความพร้อมในการใช้งานระบบการตัดสินใจและบริหารเชิงพื้นที่แบบองค์รวม ที่ติดตั้งไว้ที่ศาลากลางจังหวัดมากที่สุด มีการปรับปรุงห้องปฏิบัติการสำหรับการใช้งานระบบฯ อย่างเป็นรูปธรรม และมีการเชื่อมโยงข้อมูลในมิติอื่นๆ เข้าสู่ระบบ ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 จังหวัดระยองมีโครงการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมี เข้าสู่ระบบฯ อีกด้วย

นอกจากนี้ GISTDA มีอีก 1 ภารกิจในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานภูมิสารสนเทศของประเทศ เพื่อให้การจัดทำและใช้งานภูมิสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน ส่งเสริมการใช้งานข้อมูลร่วมกัน สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูล ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถ ด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการดำเนินงานร่วมกับจังหวัดระยองอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 คือ “ประเทศไทยมีเครือข่ายระบบออนไลน์ให้ทุกภาคส่วนใช้สืบค้น เรียกดู และดาวโหลดข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นฐานที่สมบูรณ์ ละเอียดถูกต้อง และทันสมัย รูปแบบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ของภาคธุรกิจ ในกิจการของรัฐ ในการศึกษาค้นคว้าวิจัยสร้างนวัตกรรม และในกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยมีเงื่อนไขและข้อจำกัดน้อยที่สุดนั่นเอง” ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว

…………………………………………..