วันที่ 20 ส.ค. 63 ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพมหานคร นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน Hackathon 2020 หัวข้อ Resilience in the Post COVID – 19 (for Vulnerable Groups) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 21 สิงหาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์โครงสร้างสังคมไทย และข้อเสนอนวัตกรรมสำหรับกลุ่มเปราะบางทางสังคม ที่นำไปสู่การสร้างรูปแบบโครงสร้างทางสังคมหลังโควิด-19 สำหรับกลุ่มเปราะบาง
นายปรเมธี กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขับเคลื่อนภารกิจสำคัญในการพัฒนานโยบายและนวัตกรรมทางสังคม และกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับ จึงได้จัดการแข่งขัน Hackathon 2020 ในหัวข้อ Resilience in the Post-COVID-19 (for Vulnerable Groups) เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. ทุกระดับ ได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะความคิดหรือข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านกระบวนการแข่งขันที่เรียกว่า Hackathon นำไปสู่ข้อเสนอแนะสำหรับการสร้างรูปแบบสังคมไทยหลังโควิด-19 และการพัฒนานโยบาย ข้อเสนอ มาตรการ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับกลุ่มเปราะบางทางสังคมต่อไป
นายปรเมธี กล่าวต่อว่า การแข่งขันครั้งนี้ ได้กำหนดหัวข้อการแข่งขันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกมิติ ซึ่งขณะนี้มียอดสะสมผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 10 ล้านราย และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบในวงกว้าง ทั้งการหยุดชะงักและภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้คนจำนวนมากตกงาน ธุรกิจบางอย่างหายไป หรืออาจต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อความอยู่รอด
สำหรับกลุ่มเปราะบางทางสังคม ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งด้านที่อยู่อาศัย อาชีพ รายได้ การศึกษา และการพัฒนาทักษะที่ต้องสอดรับและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสภาวะปกติใหม่ (New Normal)
นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 10 ทีม รวมทั้งสิ้นจำนวน 39 คน ประกอบด้วย ผู้เข้าร่วมแข่งขันจากสำนักงานปลัดกระทรวง พม. กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พศ.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (สสว.) และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (สนง.พมจ.) ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร บุรีรัมย์ นครสวรรค์ ลำปาง ลำพูน หนองบัวลำภู น่าน และพิจิตร นอกจากนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI เป็นที่ปรึกษา (Mentor) ให้กับผู้เข้าร่วมแข่งขัน ในช่วง Mentoring Session ทั้งนี้ สำหรับพรุ่งนี้ (21 สิงหาคม 2563) เวลา 10.30 น. จะมีการนำเสนอผลการแข่งขัน Hackathon ของผู้เข้าแข่งขันทั้ง 10 ทีม ต่อคณะกรรมการตัดสิน พร้อมทั้งมอบรางวัลแก่ทีมชนะเลิศ
………………………………………………………………………