คณะนักวิจัยกรมการข้าวลุยแดนมังกรศึกษามาตรฐานผลิตข้าวอินทรีย์เชื่อมการส่งออก

นายกฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล รองอธิบดีกรมการข้าวและโฆษกกรมการข้าว เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 17-21 กันยายนนี้ คณะนักวิจัยกรมการข้าวร่วมกับ ผศ.ดร.นารีรัตน์ สีระสาร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ร่วมวิจัยและผู้ประสานงานฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางศึกษาดูงานภายใต้โครงการความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวอินทรีย์ตามระบบมาตรฐานของจีนเพื่อการส่งออก ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเข้าพบ ศ.ดร.หยิน ชาง ปิน ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันทรัพยากรทางการเกษตรและการวางแผนระดับภูมิภาค ภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Academy of Agricultural Sciences : CAAS) และและนายถัง เริ้น ผู้เชี่ยวชาญการรับรองและตรวจสอบมาตรฐานอินทรีย์แห่งศูนย์พัฒนาอาหารอินทรีย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Organic Food Development Center : OFDC) เพื่อหารือความร่วมมือและศึกษาเทคโนโลยีการผลิตข้าวอินทรีย์ของประเทศจีนในมิติต่างๆ ทั้งการวิจัย การพัฒนาการผลิตข้าว การตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของจีน และกระบวนการส่งออกข้าวไทยไปยังประเทศจีน นำมาซึ่งการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทยให้ได้มาตรฐานและข้อกำหนดด้านการผลิตข้าวอินทรีย์ให้ได้รับการพัฒนาเทียบเคียงมาตรฐานของประเทศจีน สามารถตอบโจทย์มาตรฐานและความต้องการข้าวอินทรีย์ของผู้บริโภคจีนได้ในอนาคต

สำหรับข้าวหอมมะลิของไทยเป็นสินค้าข้าวพรีเมียมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากชาวจีน เนื่องจากเป็นข้าวที่มีกลิ่นหอมเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร โดยสถิติตัวเลขการค้าช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดโลกมีมูลค่าเกือบ 42,000 ล้านบาท มีตลาดหลัก ได้แก่ อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา 28% จีน 15% และฮ่องกง 11%  แม้ว่าจีนจะเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของโลกแต่ก็ยังไม่เพียงพอความต้องการ ในขณะนี้ราคาข้าวหอมมะลิมีแนวโน้มดีขึ้นสามารถปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตันละ 1,250 ดอลล่าร์สหรัฐ สูงกว่าราคาส่งออกในปี 2551 ที่มีราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 1,200 ดอลล่าร์สหรัฐ

 

“ข้าวที่มีการส่งออกส่วนใหญ่มีการผลิตแบบใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี ส่วนข้าวอินทรีย์มีปริมาณส่งออกน้อยมากสวนทางกับกระแสผู้บริโภคที่รักสุขภาพและที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศจีนยังคงมีโอกาสขยายได้อีก แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการจัดสรรโควตาและต้องผ่านการตรวจสอบสินค้าอินทรีย์มาตรฐานคุณภาพแบบทัดเทียมตามเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรป จาก China Organic Food Development Center (OFDC) การศึกษาด้านข้าวอินทรีย์ของจีนในครั้งนี้จึงช่วยเติมเต็มการการผลิตส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ของไทยที่กำลังดำเนินอยู่ให้ได้รับการพัฒนาเทียบเคียงมาตรฐานของประเทศจีน สามารถตอบโจทย์มาตรฐานและความต้องการข้าวอินทรีย์ของผู้บริโภคจีนได้ในอนาคต” นายกฤษณพงศ์กล่าว.