สสส.ปลื้มโครงการ “มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ 100 %” ขยายผลสำเร็จ 164 สถาบันอุดมศึกษา กระตุ้น ป้องกัน “นักสูบหน้าใหม่” ปี 64

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จ.สมุทรปราการ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. พร้อม ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และคณะกรรมการบริหารแผนฯ ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่

โดย นพ.คำนวณ กล่าวว่า สสส. ดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาและภาคีเครือข่าย มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อลดปัญหานักสูบหน้าใหม่ จากข้อมูลสถานการณ์การสูบบุหรี่ในเยาวชน ปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบเยาวชนไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น อายุเริ่มสูบน้อยลง โดยกลุ่มอายุ 19-24 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จากร้อยละ 20.2 เพิ่มเป็นร้อยละ 20.4 ในปี 2560 โดยปัจจัยที่ทำให้นักสูบอายุน้อยลงมาจากอุตสาหกรรมยาสูบใช้สื่อออนไลน์ทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจการศึกษาการตลาดในธุรกิจยาสูบ ที่พบเยาวชนสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 45 ในจำนวนนี้สูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 30.5 และเริ่มต้นสูบบุหรี่ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษา โดยอุตสาหกรรมยาสูบมักทำการตลาดส่งเสริมการขายและโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงเยาวชนง่าย และเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง

นพ.คำนวณ กล่าวว่า ปัจจุบัน สสส. สามารถขยายโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมทั้งสิ้น 164 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ จ.สมุทรปราการ ที่มีความโดดเด่นเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมจากบุคลากรและนักศึกษา ที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามการจัดพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ โดยในปี 2564 สสส. เตรียมยกระดับโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้เท่าทันเรื่องผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่มากขึ้น ส่งเสริมการจัดตั้งระบบคัดกรอง บำบัด ฟื้นฟู ผู้ต้องการเลิกบุหรี่ให้ต่อเนื่อง พร้อมขยายการทำงานไปยังมหาวิทยาลัยที่ไม่มีหลักสูตรทางการแพทย์มากขึ้น เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ฯลฯ

ด้านรศ.ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ เข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ โดยกำหนดให้อาคารทุกแห่งเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ จัดโซนสูบบุหรี่ตามกฎหมายกำหนด สนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ผ่านแกนนำนักศึกษา และให้บริการคลินิกฟ้าใส เพื่อช่วยบุคลากร เจ้าหน้าที่ นักศึกษาที่ต้องการเลิกบุหรี่ให้เลิกสูบได้สำเร็จ โดยให้คำปรึกษาผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ และส่งต่อเข้าสู่ระบบการบริการสุขภาพ ในกรณีที่มีปัญหากระทบต่อสุขภาพ หรือเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ โดยดึงแกนนำนักศึกษาเข้าร่วมช่วยบำบัดรุ่นพี่ รุ่นน้องให้เลิกบุหรี่อย่างเต็มใจและเป็นระบบ

“ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ “มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่” กับ สสส. นักศึกษาของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบมากถึงร้อยละ 90 โดยพบปริมาณก้นบุหรี่ในห้องน้ำลดลงมาก มีรุ่นพี่ รุ่นน้อง ช่วยกันสานพลังชวนกัน ลด ละ เลิก บุหรี่มากขึ้น โดยไม่ต้องผ่านการบังคับ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการทำกิจกรรม สร้างหลักสูตร และการออกแบบพื้นที่ห้ามสูบและสูบชัดเจน จนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น” รศ.ดร.อุไรพรรณ กล่าว

…………………………………………….