วันที่ 19 สิงหาคม 2563 พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) กล่าวในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 21 ปี สำนักงาน ปปง. ว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อตัดวงจรอาชญากรรมการฟอกเงิน เสริมสร้างความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงที่ได้กำหนดให้การฟอกเงินและการก่อการร้ายซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง รวมทั้งป้องกันไม่ให้ปัญหาใหม่เกิดขึ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการประเทศในทุกด้าน
ในปีที่ 21 สำนักงาน ปปง. เน้นการสืบสวนขยายผล เพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อความสงบสุข ความมั่นคงของประเทศชาติ เช่น การยกระดับการดำเนินการด้านข่าวกรองทางการเงินเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถของระบบงานข่าวกรองของประเทศไทย ซึ่งในฐานะหน่วยข่าวกรองทางการเงินของประเทศ สำนักงาน ปปง. ได้มุ่งมั่นดำเนินการด้านการสืบสวนและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานการวิเคราะห์รายงานหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยอย่างมีระบบและรวดเร็ว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นต้น
การดำเนินมาตรการด้านทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ไม่ว่าจะเป็นคดียาเสพติด ค้ามนุษย์ ก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ทุจริตคอร์รัชชั่น สามารถยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมมูลค่า 1,441,360,972.74 บาท ในรายคดีสำคัญ เช่น รายคดีแชร์แม่มณี (57 ล้านบาท), รายคดีบริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จำกัด (57 ล้านบาท), รายคดีแชร์ลูกโซ่ไนซ์รีวิว (202 ล้านบาท), รายคดีนายอภิรักษ์ โกฎธิ กับพวก หรือ Forex-3D (339 ล้านบาท), รายคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (16,500 ล้านบาท), รายคดีนายปริญญา จารวิจิต กับพวก (254 ล้านบาท), รายคดีนางสาววาณี วีรศักดิ์ธารา กับพวก (380 ล้านบาท) เป็นต้น นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินในหลายคดี เช่น การจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญาฐานฟอกเงินซึ่งเป็นเครือข่ายยาเสพติดนายเลาต๋า แสนลี่ กับพวก, การส่งเสริมและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายชาวต่างชาติที่ถูกหลอกลวง เป็นต้น และสามารถนำทรัพย์สินส่งคืนให้กับผู้เสียหายได้จำนวนมาก โดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายด้วย
สำนักงาน ปปง. ยังดำเนินภารกิจในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) โดยได้ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องจากการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในรอบปีที่ผ่านมาอย่างเป็นระบบและ จัดทำยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2560 – 2564 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว เช่น ผลักดันการจัดทำข้อตกลงการขอคืน/แบ่งปันทรัพย์สินกับต่างประเทศ (Asset Sharing), ผลักดันการตรากฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนข้อมูลผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง (Beneficial Ownership) ของประเทศไทย, ผลักดันการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไรไทยและต่างประเทศ, เพิ่มการดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง, เสริมสร้างกลไกการป้องกันสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงินไม่ให้ถูกใช้เป็นช่องทางฟอกเงิน และส่งเสริมการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน เป็นต้น
การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและมาตรฐานสากล ด้าน AML/CFT โดยได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์สิน), กฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2563 เป็นต้น นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ได้มุ่งเน้นมาตรการเชิงป้องกันเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดใช้ประชาชน สถาบันการเงิน และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจเป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการฟอกเงิน โดยการออกตรวจและให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย แนวทางในการปฏิบัติงาน รวมทั้งรับฟังปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น อันจะส่งผลให้การดำเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการดำเนินงานซึ่งปรากฏเป็นที่ประจักษ์ดังกล่าว ทำให้สำนักงาน ปปง. เป็นหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นผล มาจากความมุ่งมั่น ซื่อสัตย์ สุจริต และอุทิศตนของบุคลากรของสำนักงาน ปปง. ทุกท่านทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนและความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และในปีที่ 22 สำนักงาน ปปง. ยังคงมุ่งเน้นการสืบสวนขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตามนโยบายของสำนักงาน ปปง. ที่ว่า ทรัพย์สินใดเป็นของแผ่นดิน ทรัพย์สินนั้นต้องตกเป็นของแผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไขด้วยกฎหมายฟอกเงิน รวมถึงการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตามวิสัยทัศน์สำนักงาน ปปง. ที่ว่า “องค์กรที่เป็นมาตรฐานได้รับการยอมรับในระดับสากล” ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยใดที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หรือพบเห็นผู้ที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ปปง. ได้ที่สายด่วน ปปง.1710 หรือเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th
………………………………………….