กระทรวงคมนาคม จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น โครงการศึกษาสำรวจเพื่อการประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง และออกแบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการเดินทางทางถนน เพื่อเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะสำหรับคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ ของกระทรวงคมนาคม ระยะที่ 4
วันที่ 18 สิงหาคม 2563 นายวัลลภ งามสอน รักษาการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาระดมความคิดเห็น โครงการศึกษา สำรวจเพื่อการประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง และออกแบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการเดินทางทางถนนเพื่อเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะสำหรับคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ ของกระทรวงคมนาคม ระยะที่ 4 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและการออกแบบของโครงการ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน นำมาประกอบศึกษา ออกแบบ และปรับปรุงแผนฯ โดยมี นางสาวขนิษฐา พัวพันธ์พงษ์ ผู้อำนวยการกองกลางกล่าวรายงาน ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ สมาคมคนพิการ ผู้สูงอายุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนา ณ โรงแรม สีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา
กระทรวงคมนาคม จัดการสัมมนาระดมความคิดเห็น โครงการศึกษา สำรวจเพื่อการประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง และออกแบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการเดินทางทางถนนเพื่อเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะสำหรับคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ ของกระทรวงคมนาคม ระยะที่ 4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ โดยที่ผ่านมาแบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ดำเนินการในพื้นที่ 9 จังหวัด ในภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และตราด
ระยะที่ 2 ดำเนินการในพื้นที่ 10 จังหวัด ในภาคตะวันตก และภาคใต้ ได้แก่ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ตรัง และ สงขลา
ระยะที่ 3 ดำเนินการในพื้นที่ 15 จังหวัด ในภาคเหนือและภาคกลาง ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี และ ลพบุรี และ
ระยะที่ 4 ดำเนินการศึกษาและสำรวจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ศึกษาทั้งหมด 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ อุดรธานี ศรีสะเกษ นครพนม สกลนคร หนองคาย และมุกดาหาร
ทั้งนี้ ผลการศึกษาระยะ 1 – 3 พบว่า หน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ ทางน้ำ ได้พัฒนาและให้ความสำคัญในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุอย่างมาก ซึ่งเป็นการดำเนินการในพื้นที่ที่รับผิดชอบของหน่วยงานนั้นๆ แต่จุดเชื่อมต่อของระบบขนส่งสาธารณะจากระบบขนส่งหนึ่งไปยังระบบขนส่งหนึ่งหรือจากหน่วยงานหนึ่งไปยังหน่วยงานหนึ่ง ยังไม่มีหน่วยงานหลักรับผิดชอบ จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาและจัดทำแผนงานโครงการที่จะช่วยบูรณาการการเชื่อมโยงการเดินทางของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การเดินทางของคนพิการ และผู้สูงอายุเป็นระบบสามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง จากระบบขนส่งหนึ่งไปยังอีกระบบขนส่งหนึ่งได้อย่างไม่มีอุปสรรค และเอื้อต่อการเดินทาง ให้มีความเสมอภาค และเท่าเทียมกับประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ
กระทรวงคมนาคม จึงตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วม อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงานโครงการให้ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน จึงได้จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและการออกแบบของโครงการ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับมาประกอบศึกษา ออกแบบ และปรับปรุงแผนฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในเรื่องการเดินทางของคนพิการและผู้สูงอายุให้เกิดความเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design: UD) ต่อไป
……………………………………………………….