วันที่ 15 ส.ค. 63 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดโครงการ “รวมพลัง อพม. ต้านภัยการค้ามนุษย์” ประจำปี 2563 รุ่นที่ 1 โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. เข้าร่วมงาน พร้อมด้วยอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งสิ้นจำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วมโครงการ ณ โรงแรมคุ้มภูคำ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
นายจุติ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่มีความซับซ้อนและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างร้ายแรง และได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในบทบาทหน้าที่ของการเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่ และเป็นกลไกในการสำรวจ ชี้เป้า เฝ้าระวัง และมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชุมชนของตนเอง เป็นพลังในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ โดยแกนนำ อพม. จะนำความรู้ไปขยายผลสร้างเครือข่ายการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในชุมชนอีกชั้นหนึ่ง รวมทั้งเป็นการสร้างกลไกการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์เชิงรุก ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืนต่อไป
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดยกองต่อต้านการค้ามนุษย์ จึงได้จัดโครงการ “รวมพลัง อพม. ต้านภัยการค้ามนุษย์” ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวนทั้งสิ้น 29 รุ่น ในพื้นที่จังหวัดที่มีสถานการณ์ความเสี่ยงของปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งการจัดโครงการฯ ครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ในบทบาทภารกิจของ พม. และ ความเข้าใจถึงสถานการณ์ รูปแบบ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการป้องกันตนเองให้ห่างจากภัยการค้ามนุษย์ และนำไปถ่ายทอดและขยายผลในกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ต่อไป รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้ามีมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการ Quick win เพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของ พม.
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานในเชิงป้องกัน หากเราป้องกันได้ ปัญหาจะไม่เกิด หากเราสามารถรู้เท่าทันสถานการณ์ปัญหาค้ามนุษย์ในชุมชนของเรารู้ว่าประชาชนกลุ่มไหนคือ กลุ่มเสี่ยง และรู้วิธีการจัดการและป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างทันท่วงที เราจะสามารถหยุดยั้งกระบวนการค้ามนุษย์ในชุมชนเราได้ ดังนั้น ผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการเหล่านี้ให้สำเร็จ คือ อพม. ซึ่งตนเชื่อมั่นในศักยภาพของทุกคน การจัดโครงการในวันนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้อพม. ด้วยการเสริมความรู้หรือการติดอาวุธ รวมถึงการเพิ่มเติมทักษะเฉพาะด้านในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้กับทุกคน และขอให้คนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมในการเฝ้าระวังปัญหาระดับพื้นที่ชุมชนของตนเอง ซึ่งกระทรวง พม. ได้ดำเนินการสร้างกลไกมาเพื่อรองรับการชี้เป้า แจ้งเบาะแสของทุกคนด้วย สายด่วน พม. โทร. 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม และ Mobile App Protect-U ที่ใช้เป็นช่องทางสำหรับการประสานงานกรณีเกิดเหตุค้ามนุษย์ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ขอให้กำลังใจแก่ อพม. ทุกคน สำหรับการอุทิศตนและเวลาในการทำงานในพื้นที่ และขอให้ช่วยกันขับเคลื่อนงานอย่างเต็มที่ต่อไป
……………………………………………….