วันที่ 15 สิงหาคม 2563 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการฝายคลองขุนพัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ผู้แทนกรมชลประทาน นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปโครงการฯ พร้อมพบปะเกษตรกรและประชาชน โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ ณ บริเวณฝายคลองขุนพัง อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช
สำหรับฝายคลองขุนพัง เป็นโครงการชลประทานขนาดเล็กที่ได้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2533 เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาน้ำในภาคการเกษตรจำนวนกว่า 2,500 ไร่ ในด้านการอุปโภค-บริโภค ช่วยเหลือราษฎร 650 ครัวเรือน หรือกว่า 3,000 คน แต่จากการตรวจสอบพบว่า ฝายคลองขุนพังภายหลังจากที่กรมชลประทานได้ส่งมอบโครงการให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ภายหลังจากมีการใช้งานมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ส่งผลให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงระบบส่งน้ำระยะทาง 16 กิโลเมตร ที่ไม่สามารถส่งน้ำไปยังเป้าหมายได้
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เข้ามาสนับสนุนการช่วยเหลือด้านเทคนิควิชาการในการซ่อมแซมให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมตรวจสอบพื้นที่เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการก่อสร้างฝายทดน้ำแห่งใหม่พร้อมระบบท่อส่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนฝายคลองขุนพังเดิม โดยห่างจากฝายคลองขุนพังขึ้นไปทางเหนือน้ำประมาณ 1 กิโลเมตร คือโครงการก่อสร้างฝายคลองทองนางโยน ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนน้ำให้แก่ภาคการเกษตรได้อีก 1,500 ไร่ รวมพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์กว่า 4,000 ไร่
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงการลงพื้นที่ฝายคลองขุนพัง ว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะอำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งมีการทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ น้ำจึงมีความสำคัญในทุกกิจกรรมของภาคการเกษตร แต่ด้วยฝายขุนพังที่เก่าแก่และชำรุด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาแหล่งน้ำแหล่งใหม่ให้แก่ประชาชน และฝายคลองทองนางโยนถือเป็นฝายที่จะเข้ามาช่วยพลิกชีวิตเกษตรกร เนื่องจากสามารถจัดสรรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ได้เร่งรัดและสั่งการให้กรมชลประทานเร่งพิจารณาออกแบบโครงการ และเตรียมบรรจุไว้ในแผนงานก่อสร้าง โดยจะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2565
“ทั้งนี้ในทุกๆพื้นที่ ทุกโครงการ ขอเน้นย้ำให้ต้องมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกโครงการ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนในการรับประโยชน์อย่างสูงที่สุด เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไขและสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อให้โครงการต่างๆ สามารถเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
โดยในช่วงบ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและรับฟังการบรรยายสรุปโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการบริหารจัดการลุ่มน้ำปากพนัง พร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการต่างๆ เพื่อเตรียมพิจารณาการศึกษาโครงการเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งในเรื่องการป้องกันน้ำท่วม-น้ำแล้ง และป้องกันน้ำเค็ม โดยเตรียมให้กรมชลประทานบรรจุอยู่ในแผนปีงบประมาณ 2564 ทันที ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้ให้กรมชลประทานเตรียมจัดหาปั๊มน้ำเพื่อใช้ในการระบายน้ำ บรรเทาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงาน โดย นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ที่ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการไปกว่า 11% โดยโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาอุทกภัยที่เกิดจากปริมาณน้ำท่วมที่ไหลผ่านตัวเมืองนครศรีธรรมราชและพื้นที่ข้างเคียงไม่ให้เข้าไปท่วมพื้นที่ในเขตชุมชนและเขตเศรษฐกิจของเมือง ซึ่งกรมชลประทาน ได้สืบสาน รักษาและต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จะช่วยแก้ปัญหาอุทกภัย ใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้ง รวมทั้งป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม จึงได้มีการศึกษาความเหมาะสมและกำหนดแนวทางการแก้ไข ทั้งนี้ ได้มีการก่อสร้างไปแล้วหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการขุดคลอง การก่อสร้างประตูระบายน้ำ
โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราชและลดพื้นที่น้ำท่วมได้กว่า 90% ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตําบล 2 อําเภอ ในเขตเทศบาลนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง ราษฎรได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน 126,012 คน สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในฤดูแล้งได้ 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 17,400 ไร่ สร้างความสุขที่ยั่งยืนคืนสู่ประชาชนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการกำหนดแผนอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 16 แผนงาน วงเงินงบประมาณ 62.77 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน จำนวน 10 ปี เพื่อช่วยบรรเทาและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการโครงการฯ
…………………………………………………