‘พาณิชย์’ เปิดรับฟังความเห็นชาวกรุงฯ และจังหวัดใกล้เคียง เรื่อง CPTPP

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินสายเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเรื่องความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (Comprehensive and progressive agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) อย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดสัมมนาหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของไทยในการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี CPTPP” ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยมีนายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงาน และมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร และภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า 600 คน จาก 12 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ก่อนเดินหน้าจัดการสัมมนาครั้งที่ 5 ที่ขอนแก่นต่อไป

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้แสดงความสนใจที่จะให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP และได้มีการตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งคณะทำงานประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างศึกษา วิเคราะห์ ข้อดี ข้อเสียของความตกลงในส่วนที่ตนรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดรับฟังความเห็นจากเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และสาธารณชนที่สนใจ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคต่างๆ ของไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านประกอบการนำเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทยต่อไป ดังนั้น การสัมมนาครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคกลาง หลังจากที่มีการจัดไปแล้ว 3 ครั้ง ที่จังหวัดสงขลา เชียงใหม่ และชลบุรี

นายสกนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานสัมมนาครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ต้องการเปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะได้รวบรวมเป็นข้อมูลเสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ต่อไป ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดสัมมนาให้ข้อมูลและรับฟังความเห็นเรื่อง CPTPP ที่ขอนแก่น ในวันที่ 26 กันยายน 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เปิดให้ประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าถึงสาระสำคัญของความตกลง CPTPP และแสดงความเห็นต่อความตกลง CPTPP ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th ด้วย

ทั้งนี้ ความตกลง CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น มีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์  ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิก CPTPP ได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี ปัจจุบัน สมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ คาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับต้นปี 2562 และหลังจากนั้นจะเปิดรับสมาชิกใหม่ ดังนั้น ภารกิจสำคัญของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คือการศึกษาวิเคราะห์ ผลดี ผลเสีย ของการเข้าร่วม และจัดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อรวบรวมเสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป โดยปัจจุบัน ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อังกฤษ จีนไทเป (ไต้หวัน) และโคลอมเบีย เป็นต้น

———————————

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ