รองอธิบดีกรมชลประทาน เร่งติดตามงานก่อสร้าง 2 โครงการประตูระบายน้ำ พื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง จ.พระนครศรีอยุธยา

วันที่ 8 สิงหาคม 2563 นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างประตูระบายน้ำพระมหินทร์ ซึ่งอยู่ในโครงการระบายน้ำพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ซึ่งเป็น 1 ใน แผนงานบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน โดยมี นายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 12 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ ณ ประตูระบายน้ำพระมหินทร์ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในการนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการเข้มให้เจ้าหน้าที่โครงการจัดทำ มาสเตอร์ แพลน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทั้งนี้การวางแผนงานก่อสร้างจะต้องดำเนินการให้มีความชัดเจน ควบคู่กันไปตั้งแต่ต้นคลอง จนถึงปลายคลอง เพื่อให้การก่อสร้างมีระบบและเป็นรูปธรรม ถูกหลักวิศวกรรม และเสร็จตรงตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานได้อย่างสูงสุด พร้อมสั่งการให้ทุกฝ่ายตรวจสอบเครื่องจักรเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ให้จัดวางไว้ในจุดที่เหมาะสม ไม่กีดขวางทางน้ำ เตรียมความพร้อมกรณีเกิดสถานการณ์วิกฤติเนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ และมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านจุดก่อสร้าง ต้องสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

สำหรับประตูระบายน้ำพระมหินทร์ จะสามารถรองรับการระบายน้ำจากคลองระพีพัฒน์ บริเวณเขื่อนพระราม 6 จากเดิมในอัตตรา 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยกับพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์ 2,500 ครัวเรือน ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำการเกษตร เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

จากนั้นรองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่พร้อมตรวจติดตามบริเวณจุดก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำปากคลองระพีพัฒน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน โดย นายพงษ์ศักดิ์ เลียววงศ์วาน ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 2 สำหรับโครงการประตูระบายน้ำปากคลองระพีพัฒน์จะช่วยรองรับการระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักเพิ่มขึ้น 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ร่วมกับท่อระบายน้ำปากคลองระพีพัฒน์เดิม ที่สามารถรองรับการระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักสูงสุดได้เพียง 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และประตูระบายน้ำพระนารายณ์ที่สามารถรองรับการระบายน้ำได้สูงสุด 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งอาคารระบายน้ำทั้งหมดจะสามารถรองรับการผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักเพื่อเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ ที่ อัตราการระบายน้ำ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งยังช่วยระบายน้ำที่เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก และบรรเทาปัญหาอุทกภัยบริเวณด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้มีการติดตามการขอใช้พื้นที่ภายในโครงการ โดยไม่กระทบกับประชาชน และถูกต้องตรงตามระเบียบข้อกฎหมาย ในกรณีที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง จะต้องมีการวางแผนให้รัดกุมและรอบคอบ ถูกหลักวิศวกรรม สอดคล้องกับการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องให้ผู้รับจ้างเตรียมความพร้อมในส่วนของเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ทางโครงการฯ เร่งติดตามการก่อสร้างเพื่อสามารถเปิดใช้งานได้ตรงตามแผนที่ได้วางไว้

………………………………………………………….