สสส. ร่วมกับเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่ ชวนวัยรุ่นสำรวจตัวตน ผ่านนิทรรศการ “Free Spirit Festival รักตัวเองในโลกกดดัน” พร้อมชวนเล่นเกมการ์ด​ “Free Spirit Dialogue” สร้างสุขภาวะทางปัญญา

คนรุ่นใหม่ รู้ความต่างอย่างเข้าใจ

ฉันคือใคร ? ชีวิตคืออะไร ? ฉันสำคัญอย่างไร ? ตอนนี้มองชีวิตเป็นอย่างไร ? คำถามเหล่านี้เราอาจไม่ค่อยมีโอกาสได้คุยกันเท่าไหร่ แต่ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ การถามคำถามดังกล่าวไม่แปลกเลย เพียงแต่เราไม่ค่อยได้พูดถึงกันอย่างลึกซึ้ง และมันไม่ง่ายที่จะเริ่มต้นพูด แล้วได้คำตอบที่จริงจังกลับมา

ถือเป็นโอกาสดีที่ทาง สสส. ร่วมกับเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่ ชวนวัยรุ่นสำรวจตัวตน ผ่านนิทรรศการ “Free Spirit Festival รักตัวเองในโลกกดดัน” พร้อมชวนเล่นเกมการ์ด​ “Free Spirit Dialogue” สร้างสุขภาวะทางปัญญา

“การมีความสุขในชีวิตเป็นเรื่องใกล้ตัว วัยรุ่นถือเป็นวัยที่กุมอนาคตของประเทศชาติและสังคมไว้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหยื่อเช่นกัน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต่างมุ่งมาที่กลุ่มคนรุ่นใหม่” เป็นมุมมองของ “ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม” ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการ ผอ.สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส.

ดร.นพ.ไพโรจน์ บอกต่อว่า การสร้างทักษะการเข้าใจตัวเองและผู้อื่น จะอยู่ติดตัวมากกว่าความรู้ สสส.เห็นความสำคัญจึงสนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพ นักสื่อสารสุขภาวะทางปัญญารุ่นใหม่ พร้อมชวนคนรุ่นใหม่สำรวจตัวตน ผ่านเกมการ์ด Free Spirit Dialogue Starter เพื่อช่วยให้รู้จักตัวตน และก้าวข้ามทุกขภาวะสู่สุขภาวะทางปัญญา

“ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เราได้เห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากช่วยเหลือสังคม แต่ก็มีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันของชีวิต อนาคตที่ไม่แน่นอน สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง รวมถึงตั้งคำถามต่อคุณค่าที่ตัวเองมี” เป็นทัศนะของ นายเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ปรึกษา Free Spirit Thailand พร้อมเล่าว่า กลุ่ม Free Spirit Thailand คือชุมชนนักสื่อสารและศิลปินรุ่นใหม่ ที่ร่วมกันตั้งคำถามกับชีวิต เรียนรู้ตัวตน ค้นหาตัวเอง และส่งต่อเรื่องเล่าประสบการณ์ ผ่านงานศิลปะ รวมไปถึงการพัฒนาเกมการ์ด เพื่อสำรวจตนเองและพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

“เวลาที่วัยรุ่นมีความทุกข์เขาจะเลือกคุยกับเพื่อนก่อน แต่ถ้าทุกข์มากๆ คุยกับเพื่อนไม่ได้ เขาจะปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือวัยรุ่นบางคนก็เลือกที่จะไปดูดวง” เป็นความเห็นของ วิภาพรรณ วงษ์สว่าง หรือ นานา ศิลปินคนรุ่นใหม่ และหนึ่งในทีมผู้ทำเกมการ์ด

เธอเล่าว่า เกมการ์ดถือเป็นตรงกลางระหว่างจิตแพทย์กับหมอดู เกมการ์ดสร้างบทสนทนาจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยตั้งคำถามและเล่าเรื่องตัวเอง สะท้อนทัศนคติต่อคุณค่าในชีวิต

วิภาพรรณ บอกด้วยว่า ได้ทำการสำรวจในหัวข้อ “เช็คทุกขภาวะทางปัญญาวัยรุ่นไทย อะไรทำให้เราเล่าถึงตัวเองในทางลบบ้าง” พบว่าคนหนุ่มสาวทุกวันนี้กดดันที่สุดเรื่อง “การงานที่มีคุณค่า และการมีอนาคต” โดยอายุ 14-17 ปี แม้จะเป็นวัยเรียน ก็มีแรงกดดันเรื่องการหางานและอุปสรรคทางการเงิน

ในขณะเดียวกันก็มีแรงกดดัน เรื่องการเปรียบเทียบกับเพื่อนที่ดูมีอนาคตกว่า ขณะที่อายุ 18-21 ปี มีแรงกดดันเรื่องการงานสูง และก็ยังคงกังวลอยู่ว่า “คนอื่นจะมองเราอย่างไร” ส่วนอายุ 22-26 ปี รู้สึกกดดันเรื่องงาน เลิกคิดเรื่องคนอื่นจะมองเราอย่างไรแล้ว แต่มีแรงกดดันเรื่องปากท้องเศรษฐกิจและสังคม

งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ยังระบุว่า ความรู้สึกไร้คุณค่าในชีวิต นำไปสู่การเสพติดแอลกอฮอล์ ยาเสพติด โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และการทำร้ายตัวเองในรูปแบบต่างๆ

“วัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มค้นหาตัวเอง ต้องผ่านการลองผิดลองถูกกับหลายๆ เรื่อง   การสงสัยว่าแท้จริงแล้วเราคือใคร จึงเป็นผลดีต่อการเติบโตของเรา” วิภาพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการเล่น เกมการ์ดสร้างบทสนทนา ได้แก่

1. ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง ในสภาพแวดล้อมที่คนพร้อมจะฟัง และไม่รีบตัดสินสิ่งที่คนอื่นเล่า

2. เกิดบทสนทนาที่มีคุณภาพ มีความลึกซึ้ง ให้ข้อคิดและทำได้ง่าย

3. รับฟังและมองเห็นปัญหามากขึ้น ทำให้ช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด

4. ได้สำรวจตัวตน ได้แสดงออก เข้าใจความหมายของชีวิต

5. มีความมั่นใจ รู้คุณค่าในตัวเอง อุปสรรคในชีวิตน้อยลง

6. มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถช่วยเหลือรับฟังผู้อื่นได้

พงษ์เพชร บาดตาสาว หรือ เจเจ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม บอกเล่าความรู้สึกว่า การคุยกันทุกวันนี้เราคุยกันแค่รับรู้เฉยๆ เราไม่ได้คุยกันแบบให้เข้าใจจริงๆ เกมการ์ดนี้ทำให้เราได้สื่อสาร และได้รับฟังปัญหาของผู้อื่น จึงรู้สึกดีมากที่มีเกมแบบนี้

สอดคล้องกับ พรเพ็ญ เธียรไพศาล หรือ โบว์ บอกว่า ได้เห็นประสบการณ์ เห็นปัญหาที่หลากหลายของผู้ร่วมวงที่สะท้อนออกมา บางเรื่องเราไม่กล้าพูดคุยกับที่บ้าน แต่สามารถนำมาพูดคุยกับผู้เล่นในวงนี้ได้ ทำให้ความรู้สึกตึงเครียดลดลง”

วัยรุ่นเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ตัวตน ค้นหาตัวเอง แต่วัยรุ่นหลายคนก็มีเรื่องทุกข์ใจซ่อนอยู่ สสส. เชื่อว่าสุขภาวะทางปัญญา จะเป็นพลังให้คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เข้าใจตนเองและผู้อื่น

สำหรับผู้ที่สนใจ “เกมการ์ดสร้างบทสนทนา” สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ www.myfreespirit.net/cardgame

………………………………………………………..