“วีรศักดิ์” สั่งการให้ไอทีดีศึกษาผลกระทบและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 เน้นภาคเกษตร อุตสาหกรรม และท่องเที่ยว

“วีรศักดิ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี ศึกษาผลกระทบและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจการพาณิชย์จากวิกฤตโควิด-19 (COVID-19) ครอบคลุมการประเมินผลกระทบ ปัญหา อุปสรรค และโอกาสที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเกษตร และท่องเที่ยว เพื่อนำผลการวิจัยใช้ประกอบการจัดทำนโยบายและมาตรการการฟื้นฟูเศรษฐกิจสำหรับกระทรวงพาณิชย์

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยหลังจากเป็นประธานเปิดการแถลงข่าว “การศึกษาวิจัยผลกระทบและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจการพาณิชย์จากวิกฤตโควิด-19” ว่าได้มอบหมายให้ไอทีดีทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญหา อุปสรรค และโอกาสจากวิกฤตโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยให้มุ่งเน้นศึกษาวิเคราะห์ และประเมินผลกระทบที่มีต่อภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เนื่องจากได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจการพาณิชย์ของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องใช้มาตรการที่ช่วยแก้ปัญหาได้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าและบริการที่มีศักยภาพของไทย เช่น ข้าว ผลไม้ต่างๆ อาหารสำเร็จรูป ไก่ อาหารทะเล และภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร แฟรนไชส์ โลจิสติกส์ และดิจิทัลคอนเทนท์ ฯลฯ นอกจากนั้นการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจการพาณิชย์ของประเทศยังวางเป้าหมายใหญ่ คือ เตรียมพลิกฟื้นเศรษฐกิจในภาคการผลิตและการบริโภคในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19

“ผมให้ไอทีดีทำการศึกษาเจาะลึกไปที่ภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เพราะเป็น 3 ภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ   เพราะจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า18 ล้านคน และผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากกว่า 6 แสนคน ในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยสะสมในประเทศกว่า 3,300 คน และผู้เสียชีวิตรวม 58 คน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ทางสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบอย่างมากทางเศรษฐกิจ

นายวีรศักดิ์กล่าวว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ธนาคารโลก ได้ประมาณการอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกไว้ที่อัตราติดลบร้อยละ 5 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์และประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2563 ไว้ในอัตราที่หดตัวโดยติดลบร้อยละ 5.3 ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ตรงกันกับข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยจะหดตัวอยู่ในอัตราที่ติดลบตั้งแต่ร้อยละ 5 ถึง 6 และเมื่อพิจารณาดูจากผลกระทบในแต่ละด้านแล้ว ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมรับผลกระทบและความเสียหายหนักมากที่สุด ขณะที่ผลกระทบในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการเกษตรยังคงไม่ได้รับผลกระทบและความเสียหายมากเท่าสองมิติแรก แต่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในระดับที่รุนแรงไม่แพ้กัน”

นายวีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงพาณิชย์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจของไทย ทั้งมิติการค้าภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ และเกิดความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เมื่อวิกฤตโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไป คาดว่าปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นโจทย์เร่งด่วนที่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ในการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมามีความเข้มแข็งและความยั่งยืนอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและมีสัดส่วนแรงงานอยู่ในระดับสูง เช่น ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งมิติการจ้างงาน การค้าขายในประเทศ และการส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ

ทั้งนี้ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และใช้กลไกที่กระทรวงมีอยู่แล้ว เช่น พาณิชย์จังหวัด พาณิชย์ต่างประเทศ เสริมกับเครื่องมือสมัยใหม่ เช่น การค้าออนไลน์ แอปพลิเคชัน และหาแนวทางการเชื่อมโยงกลไกของกระทรวงพาณิชย์กับองค์กรภาคเอกชนทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น เช่น สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม ฯลฯ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าไทยทั้งในประเทศ
และการส่งออก รวมทั้งได้สั่งการให้พิจารณาของบประมาณเพิ่มเติมหากจำเป็นไว้สำหรับเกษตรกร โดยกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าแม้สถานการณ์โควิด-19 จะยังไม่หมดสิ้นไป แต่กระทรวงพาณิชย์ยังต้องเร่งเตรียมการเพื่อจะได้ขับเคลื่อนการค้าได้ทันที การฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจการพาณิชย์ของประเทศจำเป็นต้องใช้มาตรการที่ตรงกับปัญหาที่ผู้ประกอบการประสบอย่างแท้จริง

นายวีรศักดิ์กล่าวว่า การศึกษาผลกระทบจากสภาพปัญหา อุปสรรค และโอกาสจากวิกฤตโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจประเทศไทย โดยศึกษาเจาะลึก 3 ภาค ได้แก่ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว จึงจะเป็นแผนงานเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการต่าง ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดูแลอยู่ เช่น 1) การประกันรายได้เกษตรกร 2) การดูแลราคาสินค้าและบริการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการและผู้บริโภค 3) เร่งรัดการส่งออกสินค้าและบริการโดยเน้นส่งออกพืชผลทางการเกษตร บริการสินค้า OTOP สินค้าเสื้อผ้า เครื่องประดับ 4) เร่งรัดการเจรจาค้างท่อ เช่น ASEAN และ RCEP 5) เดินหน้าระบบ e-filing ต่อไป เพื่อให้การจดทะเบียนและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารของกระทรวงฯ 6) เร่งรัดการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะ GI เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ 7) การผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่ เช่น Bio Green, Sharing, Creative Economy และการค้าออนไลน์ โดยสนับสนุน Start Up ส่งเสริม สนับสนุนให้ SMEs OTOP และแฟรนไชส์ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 8) ฟื้นฟูช่วยเหลือธุรกิจโชว์ห่วยให้เป็นกลไกสำคัญต่อเศรษฐกิจ และ 9) การส่งเสริมพัฒนาธุรกิจภาคบริการเพื่อเพิ่มการแข่งขันของประเทศ เช่น สปา ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ เป็นต้น

“ผมตระหนักถึงความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ดังนั้นจึงได้สั่งการให้ไอทีดีทำการศึกษาวิจัย ในหัวข้อ“การศึกษาวิจัยผลกระทบและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจการพาณิชย์จากวิกฤตโควิด-19” เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างเพื่อใช้ประโยชน์ในการเสนอแนะเชิงนโยบายและการกำหนดมาตรการและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการพาณิชย์ (ภาคภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว) ให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญให้สามารถวางแผนฟื้นฟูกิจการและธุรกิจของตนได้หลังวิกฤตโควิด-19 (Post-COVID-19)” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา กล่าวว่างานวิจัยนี้ไอทีดีได้กำหนดให้ศึกษาและประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อ 3 ภาคส่วนหลักของประเทศ ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณอย่างละเอียด โดยครอบคลุมทั้งมิติการจ้างงาน การผลิต และการตลาด  เมื่อสามารถระบุถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างครอบคลุมแล้วจะได้วิเคราะห์กำหนดมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว เพื่อเสนอเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการที่ครอบคลุมต่อบทบาทและภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงเสนอแนะมาตรการประสานความร่วมมือเชิงบูรณาการภารกิจของกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการนำผลการศึกษาวิจัยไปปฏิบัติจริงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานได้อย่างแท้จริง รวมทั้งจะได้เสนอกลไกและวิธีการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์จะนำไปดำเนินงาน เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขและปรับปรุงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพเท่าทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันแปรอย่างรวดเร็ว

การแถลงข่าวในครั้งนี้จัดขึ้น ในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2563 ระหว่างเวลา 10.00 – 11.30 น. ณ ห้องกำแพงเพชรอัครโยธิน ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ (สนามบินน้ำ) นนทบุรี โดยมีนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการไอทีดี กล่าวรายงานความเป็นมาของการดำเนินโครงการ และรศ. ดร. อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ หัวหน้าคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานแผนการดำเนินงานโครงการ และดำเนินรายการโดยนายวิมล ปั้นคง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย ไอทีดี นอกจากนี้ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และ นายไตรรัตน์ โภคพลากรณ์ ประธานกรรมการ ไอทีดี ให้เกียรติร่วมฟังแถลงข่าวครั้งนี้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักผู้อำนวยการ ITD โทรศัพท์ 0-2216-1894 – 7 ต่อ 137 e-mail: nilobon@itd.or.th

……………………………………………..