สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : มะลิ..สัญลักษณ์วันแม่ ดูแลสุขภาพ

ทุก ๆ ปี ในเดือนสิงหาคม คนไทยจะคุ้นเคยกันดีกับการใช้ดอกมะลิ เป็นตัวแทนเพื่อคุณแม่กัน ด้วยความขาว สะอาด บริสุทธิ์ กลิ่นหอม ที่สำคัญ ดอกไม้เป็นยาดอกนี้ยังถูกใช้เพื่อการบรรเทารักษาโรคมานานหลายยุคหลายสมัยด้วยนะคะ

ในประวัติศาสตร์ ดอกมะลิ มีการใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงครรภ์ แก้ลมวิงเวียน ช่วยนอนหลับ ด้วยรสหอมเย็น ทำให้สดชื่น ชื่นใจ ผ่อนคลาย ทุกบ้านจะใช้ดอกมะลิลอยน้ำใส่ขันไว้รับแขก ไว้ดื่มกินดับกระหาย แก้อ่อนเพลีย และในทางยาไทย ดอกมะลิ เป็นยาในพิกัดเกสรทั้ง 5 เกสรทั้ง 7 และ เกสรทั้ง 9 และเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอมหลายขนาน เช่น ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมนวโกศ ยาหอมอินทจักร์ และโดยเฉพาะหอมเทพจิตรที่มีดอกมะลิประกอบมากที่สุดในตำรับ

นอกจากการใช้เป็นยาไทย ศาสตร์สุคนธบำบัด ยังมีการใช้กลิ่นหอมของดอกมะลิ เพื่อบำรุงร่างกาย ปรับสมดุลอารมณ์และจิตใจ แก้ปวดศีรษะ คลายเครียด และช่วยการนอนหลับให้ดีขึ้น กระทั่งมีการยกให้ มะลิ เป็น King of Essential oils ในขณะที่ กุหลาบ เป็น Queen of Essential oils และมีการศึกษาวิจัย ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เพื่อยืนยันสรรพคุณและประโยชน์ของดอกไม้ชนิดนี้ ที่น่าสนใจคือ

  1. มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดโคโรนารี และ กระตุ้นหัวใจ ฤทธิ์ดังกล่าวเป็นผลช่วยสนับสนุนการใช้มะลิในตำรับยาหอม ยาพื้นบ้านที่ช่วยแก้ลมวิงเวียนได้
  2. ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus sanguinis ที่เป็นสาเหตุให้เกิดฟันผุ โดยสารสกัดเมทานอล จากดอกมะลิลาแห้ง มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดังกล่าว
  3. ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa และเชื้อรา Aspergillus niger โดยสารสำคัญในดอกมะลิลา มีผลยับยั้งได้
  4. ฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ด้วยน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ มีฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
  5. ฤทธิ์สงบประสาท และทำให้นอนหลับ ฤทธิ์ดังกล่าวถูกใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยการศึกษาน้ำคั้นจากรากสดมะลิลา 1-8 กรัม ต่อน้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม เมื่อฉีดเข้าช่องท้อง หนู กระต่าย และสุนัข มีผลในการสงบประสาท ทำให้สัตว์เคลื่อนไหวน้อยลง และทำให้นอนหลับ ในปริมาณต่างกัน จึงควรระมัดระวังในการใช้ เพราะการใช้มากเกินไปจะทำให้สลบได้

ขนาดที่แนะนำให้ใช้

ใช้ดอกมะลิแห้ง 1.5 – 3 กรัม ต้มน้ำ หรือชงน้ำร้อนดื่ม

ดอกมะลิสด 4-5 ดอก ลอยน้ำให้กลิ่นหอม

ข้อควรระวัง

– ไม่ควรรับประทานมะลิ ในรูปแบบ ยา หรือขนาดสูง ติดต่อกันนานเกินไป เพราะอาจทำให้เฉื่อยชาและหลงลืมง่าย

– ไม่ควรรับประทานรากมะลิดองเหล้า เพราะอาจทำให้หมดสติ

– ระวังการใช้ดอกมะลิในผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือด วาร์ฟาริน

ตัวอย่างเครื่องดื่มประยุกต์จากดอกมะลิ

สูตรน้ำ 3 ดอกไม้

ส่วนประกอบ

  1. ดอกมะลิ
  2. ดอกดาวเรือง
  3. ดอกเก๊กฮวย
  4. น้ำผึ้ง

วิธีทำ

  1. นำดอกดาวเรืองและดอกเก๊กฮวย จะเป็นดอกสดหรือแห้งก็ได้ อย่างละ 1 ช้อนตวง ใส่ในหม้อต้ม
  2. เติมน้ำเปล่าให้ท่วมดอกไม้ และต้มทิ้งไว้ 15 นาที
  3. เมื่อต้มเสร็จ ให้ปิดแก๊ส และทิ้งน้ำดอกไม้ให้อุ่นสักครู่
  4. จากนั้นนำดอกมะลิ 1 ช้อนตวงมาลอยน้ำให้กลิ่นหอมออกมา (ไม่นำดอกมะลิไปต้มร่วมด้วยเพราะจะทำให้กลิ่นหอมของดอกมะลิหายไป
  5. ปรุงรสด้วยน้ำผึ้งตามใจชอบ เท่านี้เป็นอันเสร็จ

ช่องทางปรึกษาสุขภาพกับอภัยภูเบศร

Facebook : สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

คลินิกออนไลน์ : @abhthaimed

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

บันทึกของแผ่นดิน 9 สมุนไพรในสภาวะโลกร้อน

ฐานข้อมูลเครื่องยา มหาวิทยาลัยอุบล http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=106