“บิ๊กอู๋” เปิดเวทีสัมมนาร่วมรัฐ เอกชน นักวิชาการ ถกทิศทางเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่การแข่งขันของประเทศ

รมว.แรงงาน เปิดการสัมมนาฯ ทิศทางการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน มุ่งสร้างกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ

วันที่ 14 ก.ย.61 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ทิศทางการเพิ่มผลิตภาพแรงงานกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และร่วมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ประเทศไทย 4.0” ณ ห้อง Ballroom 2 ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า จากสถานการณ์ทางโครงสร้างประชากรและตลาดแรงงานของไทย อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้สถานการณ์ของกำลังแรงงานในอนาคตประสบกับการลดลงของวัยทำงานและวัยเด็ก และจะมีการพึ่งพิงที่เกิดจากผู้สูงอายุสูงขึ้น ประกอบกับโครงสร้างของจำนวนแรงงานภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการ ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยแรงงานภาคการเกษตรซึ่งมีอยู่ถึงประมาณร้อยละ 40 แต่มีผลิตภาพน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพสูง จำนวนผู้มีงานทำน้อย รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างตลาดแรงงาน เช่น การทำงานไม่ตรงกับสาขาที่สำเร็จศึกษา การทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษา และคุณภาพแรงงาน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ส่งผลต่อผลิตภาพแรงงานทั้งสิ้น

 พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน  โดยได้นำเรื่องการยกระดับศักยภาพของแรงงาน และการเพิ่มผลิตแรงงาน บรรจุเป็นวาระการดำเนินงานที่สำคัญทั้งในกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560 – 2579) ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560 – 2564) รวมทั้งในกรอบนโยบายการดำเนินงานของกลไกในระดับต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ กพข. และที่สำคัญคือ ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ที่กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน ด้วยกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ โดยจะมีการยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัยและการพัฒนาวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การพัฒนาทักษะและงานใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ คนไทยและแรงงานไทยจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและทักษะที่เพิ่มมากขึ้น

“รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานคงไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือที่ดีจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบการการ และนักวิชาการ ในการร่วมกันส่งเสริมศักยภาพของกำลังแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ นำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม เพื่อช่วยส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศต่าง ๆ ต่อไป” พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวในท้ายสุด