กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเรื่อง CPTPP อย่างต่อเนื่อง เดินหน้าจัดสัมมนา “โอกาสและความท้าทายของไทยในการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี CPTPP” เป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 ณ โรงแรมเซ็นทารา จังหวัดสงขลา โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร และภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า 200 คน จาก 8 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสตูล ก่อนเดินหน้าจัดที่กรุงเทพฯ และขอนแก่นต่อไป
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การจัดรับฟังความเห็นที่จังหวัดสงขลาครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคใต้ หลังจากที่มีการจัดไปแล้วสองครั้ง ที่จังหวัดชลบุรี และเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ซึ่งการจัดสัมมนาครั้งนี้ ได้เชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญจากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาครัฐ ร่วมเสวนานำเสนอข้อมูลภาพรวมความตกลง CPTPP และประเด็นปลีกย่อยต่างๆ ตั้งแต่การเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ด้านสาธารณสุข รวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เป็นข้อห่วงกังวลของผู้เข้าร่วมสัมมนาด้านเกษตร อาทิ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เป็นต้น การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นครั้งนี้ มีมุมมองทั้งในด้านประโยชน์และผลกระทบ โดยในภาพบวกเห็นว่า CPTPP จะช่วยขยายโอกาสการค้าการลงทุนของไทย ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ต้นทุนภาคธุรกิจลดลง ผลักดันและสร้างแรงจูงใจในการพัฒนามูลค่าเพิ่มและขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน ความท้าทายที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบการไทยก็อาจจะเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และไทยอาจจะต้องแก้ไขกฎหมายบางเรื่องเพื่อให้สอดคล้องกับความตกลง
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการจัดสัมมนารับฟังความเห็นเกี่ยวกับ CPTPP กรมฯ พร้อมเปิดกว้างสำหรับทุกภาคส่วนในการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP โดยในวันที่ 19 กันยายน 2561 จะจัดสัมมนาครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ ณ โรงแรมดุสิตธานี โดยกรมฯ ได้รวบรวมวิทยากรที่เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เป็นข้อกังวลจากที่ได้รับทราบมาจากการจัดสัมมนา 3 จังหวัดที่ผ่านมา และครั้งที่ 5 จะจัดขึ้นที่ จ.ขอนแก่น ณ โรงแรมพูลแมน ในวันที่ 26 กันยายน 2561 นอกจากนี้ ประชาชนหรือผู้สนใจยังสามารถแสดงความคิดเห็นหรือศึกษารายละเอียดสาระสำคัญเกี่ยวกับความตกลง CPTPP ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (www.dtn.go.th)
ทั้งนี้ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ
การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด
11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิก CPTPP ได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี ปัจจุบัน สมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ คาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับต้นปี 2562 และหลังจากนั้นจะเปิดรับสมาชิกใหม่ ดังนั้น ไทยจึงยังมีเวลาที่จะศึกษา วิเคราะห์ผลดี ผลเสียของการเข้าร่วม และหนึ่งในภารกิจสำคัญคือการจัดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อรวบรวมเสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป โดยปัจจุบัน ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อังกฤษ จีนไทเป (ไต้หวัน) และโคลอมเบีย เป็นต้น