กรมปศุสัตว์ ยืนยันสถานการณ์โรคเฮโมรายิกเซพติคซีเมียหรือโรคคอบวมในโค-กระบือ อยู่ในระดับควบคุมได้

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดการระบาดของโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย หรือโรคคอบวม ที่จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดขอนแก่น ซึ่งส่งผลให้มีโค-กระบือป่วยตายหลายตัวนั้น เมื่อวันที่ 29 – 31 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้นายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ พันธุ์สนิท ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และเร่งดำเนินการควบคุมโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียหรือโรคคอบวมในโค-กระบือ นั้น กรมปศุสัตว์ขอสรุปสถานการณ์ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ดังนี้

พื้นที่พบโรค คือ จังหวัดมหาสารคาม เกิดขึ้นกับเกษตรกร 8 ราย สัตว์ป่วย 40 ตัว สัตว์ตาย 29 ตัว จังหวัดขอนแก่น เกษตรกร 3 ราย สัตว์ป่วย 7 ตัว สัตว์ตาย 3 ตัว จังหวัดอุดรธานี เกษตรกร 1 ราย สัตว์ป่วย 4 ตัว สัตว์ตาย 2 ตัว รวม 3 จังหวัด เกษตรกร 13 สัตว์ป่วย 51 ตัว ตาย 34 ตัว ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงได้ดำเนินการการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยประกาศเขตควบคุมโรคระบาด มีการตั้งด่านกักกัน/จุดสกัด รอบพื้นที่เกิดโรค

นอกจากนี้ ยังดำเนินการฉีดวัคซีนรอบพื้นที่เกิดโรค Ring Vaccination ให้กับสัตว์จำนวน 9,676 ตัว และฉีดวัคซีนแบบปูพรมในพื้นที่ข้างเคียง mass vaccination รวม 67,565 ตัว พร้อมทั้งจัดทีมสัตวแพทย์รักษาพยาบาลสัตว์ป่วย ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทุกราย สัตว์ป่วยได้รับการรักษาทุกตัว ทุกวัน ดำเนินการสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกรเจ้าของสัตว์ในจุดควบคุมโรค ในระหว่างสัตว์ได้รับการกักกัน และ/หรือ ในระหว่างการรักษาพยาบาล มีการประเมินสถานการณ์ Prognosis

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบาดของโรค เกิดเป็นจุดเล็กๆ เป็นผลมาจากระบบการเฝ้าระวังโรค surveillance ที่มีประสิทธิภาพ การรับแจ้งโรคที่เร็ว ควบคุมโรคตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนดทันที Rapid response operation สถานการณ์โรคเข้าสู่ภาวะปรกติแล้ว

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้จัดระบบเฝ้าระวังโรคอย่างเคร่งครัด ต่อเนื่อง ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่พบโรคคือ วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 จนถึงระยะเวลาที่สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปรกติ ในระดับที่ควบคุมได้นั้น รวมระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายจากโรคคอบวม กรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับกระบือ และโคที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนดังกล่าวสามารถคุ้มโรคได้นานถึง 1 ปี

รวมทั้งสังเกตอาการโค กระบือ ของตนเอง หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด หรือแจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ที่ 063-2256888 หรือ แอพพลิเคชั่น DLD 4.0 โดยทันที เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และขอย้ำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เข้าใจว่า “โรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย หรือโรคคอบวม เป็นโรคที่เกิดในโค-กระบือเท่านั้น สัตว์ชนิดอื่นรวมทั้งคนไม่เป็นโรคดังกล่าว”

…………………………………………….

ที่มา : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์