4 ท่า แก้อาการออฟฟิศ ซินโดรม โดย สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

อาการยอดฮิตของคนทำงาน “ออฟฟิศซินโดรม” หรืออาการ ปวด คอ บ่า ไหล่ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการใช้งานกล้ามเนื้อส่วนบนของร่างกาย จากการนั่งนานๆ การใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือ การติดหน้าจอมือถือแบบในสังคมปัจจุบัน  ในมุมมองทางการแพทย์แผนไทย ได้วินิจฉัยอาการกลุ่มนี้ว่าเกิดจากการขาดสมดุลในการทำงานของธาตุ ทั้ง 4 ในร่างกาย คือ

ธาตุดิน ได้แก่ มังสัง (กล้ามเนื้อ) นหารู (เส้นเอ็น)ที่ถูกกระทบจากการใช้งาน ทำให้มีอาการ เกร็ง แข็ง ตึง หรือเป็นก้อน

ธาตุน้ำ ได้แก่ โลหิตตัง (เลือด) ระบบการไหลเวียนเลือดที่ลำบากขึ้น จากปัญหาของกล้ามเนื้อ

ธาตุลม ได้แก่ อุธังคมาวาตา (ลมพัดจากเบื้องล่างสู่เบื้องบน) อโธคมาวาตา (ลมพัดจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง) อังคมังคานุสารีวาตา (ลมพัดทั่วร่างกาย)

ธาตุไฟ ได้แก่ สันตัปปัคคี (ไฟอุ่นกาย)

สามารถอธิบายได้โดยสรุป คือ เมื่อร่างกายอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมหรืออยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ จะทำให้ กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งทำงานมากเกินไปจนเกิดการหดเกร็ง ธาตุดิน(กล้ามเนื้อ) เริ่มเกิดการเกร็งแข็งตัว ขวางการ เคลื่อนที่ของธาตุน้ำ(เลือด)และธาตุลม ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้สะดวก ส่งผลกระทบไปยังธาตุไฟในบริเวณดังกล่าว ทำให้ผิว บริเวณนั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้น เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ และธาตุน้ำ ซึ่งขาดธาตุลมที่ช่วยในการเคลื่อนไหว ส่งผลทำให้เลือด ไปหล่อเลี้ยง อวัยวะส่วนปลายไม่เพียงพอก่อให้เกิดอาการชา และท้ายที่สุดเมื่อธาตุดินขาดธาตุน้ำในการหล่อเลี้ยง และมีธาตุลม ในบริเวณนั้นมากเกินไป ยิ่งส่งผลให้ธาตุดินแข็งตัวมากยิ่งขึ้น ธาตุลมที่เคลื่อนไหวทาให้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวกค้างอยู่ในบริเวณ ใดบริเวณหนึ่งมากเกินไปหรือศัพท์ทางแพทย์แผนไทยเรียกว่า“ลมอั้น”จึงทำให้คนไข้มีอาการปวดตึงบริเวณกล้ามเนื้อส่วนนั้นร่วมด้วย

แนวทางการรักษา ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย

แนะนำการนวดแก้อาการ หรือการใช้หัตถบำบัด คือ การนวดไทย ตามเส้นพื้นฐานและจุดสัญญาณของโรคโดยใช้หลักการในการใช้แรงกดกระทำต่อกล้ามเนื้อ เมื่อ ผ่อนแรงทำให้ธาตุดินหรือกล้ามเนื้อคลายตัว ส่งผลให้ธาตุลม ธาตุน้ำ และธาตุไฟ ในร่างกายเคลื่อนที่ได้สะดวก และส่งผลทำให้ธาตุดินเกิดการคลายตัวมากยิ่งขึ้นเมื่อมีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้น อาการปวดตึงกล้ามเนื้อ หรือบางรายที่มีอาการ ปวด มึนศีรษะ จะค่อยๆดีขึ้น

นอกจากการนวดรักษาแล้ว ยังมีการ จ่ายยาสมุนไพร ที่มีฤทธิ์ช่วยลดการปวด อักเสบ เพิ่มการไหลเวียนเลือด และคลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง หรือ ตำรับสหัสธารา ที่ประกอบด้วยสมุนไพรทั้งหมด 21 ชนิด มีรสร้อน ช่วยกระจายลมในร่างกาย ทำให้ธาตุไฟและธาตุลมทำงานได้ดีขึ้น ลดอาการชา มีผลการวิจัยทางคลินิกของสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยที่ศึกษาทางคลินิกเปรียบเทียบประสิทธิผล ระหว่างยาแก้ปวดแผนปัจจุบัน ไดโคลฟีแนค พบว่าการใช้ยาตำรับสมุนไพรสามารถลดปวดได้เช่นเดียวกันไม่แตกต่าง แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก

งดรับประทานอาหารแสลงที่ อาจจะกระตุ้นให้มีอาการของโรคมากขึ้น ได้แก่ การงดรับประทานข้าวเหนียว หน่อไม้ เครื่องในสัตว์ งดดื่มเหล้า-เบียร์ อาจจะทำให้ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นจนเกิด การตกตะกอนเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการอักเสบและปวดตามข้อได้

ที่สำคัญควรได้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการปวดเกร็งก้ามเนื้อ โดยการทำท่ากายบริหารเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้กล้ามเนื้อเกิดความยืดหยุ่นพร้อมต่อการใช้งาน เพราะการทาท่ากายบริหารที่ถูกต้องนอกจากจะช่วยให้กล้ามเนื้อ ยืดหยุ่นแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงกดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวกขึ้น อาการปวดตึงกล้ามเนื้อจะลดลง รวมถึงการประคบร้อนใน บริเวณที่ปวดเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวและเลือดลมไหลเวียนได้สะดวกขึ้น

ตัวอย่างท่าบริหาร เพื่อลดอาการ ออฟฟิศซินโดรม

  1. ยืดกล้ามเนื้อแขนและไหล่ ข้างละ 15 วินาที ทำสลับกันโดยนำแขนข้างหนึ่งไขว้ไปฝั่งตรงข้าม และใช้แขนอีกข้างล็อคแขนข้างที่ไขว้เข้าหาตัวเบาๆ จนรู้สึกตึง ค้างไว้ 15 วินาที

  1. ยืดกล้ามเนื้อต้นแขน 15 วินาที โดยทำการ ชูมือทั้งสองข้างขึ้นประสานกันไว้เหนือศีรษะ และยืดขึ้นด้านบนจนสุดแขนและรู้สึกตึงๆ และสลับกับการยืดไปด้านหน้า จนสุดแขน ค้าง 15 วินาที
  1. ยืดกล้ามเนื้อหลัง และสะบัก ยกแขนขวาแตะหัวไหล่ซ้าย พร้อมกับเอามือซ้ายจับศอกขวา แล้วดึงลงจนรู้สึกตึงๆ ค้างไว้ 15 วินาที ให้ลำตัวตรงอย่าเอียงตามการดึงแขน ทำสลับข้างกัน

  1. ยืดกล้ามเนื้อต้นคอ 15 วินาที ทำทั้งสองข้างสลับกัน โดยการใช้มือฝั่งตรงข้าม อ้อมจับศีรษะอีกด้าน จากนั้นออกแรงยืด ดึงศีรษะโน้มลงมาฝั่งเดียวกับมือข้างที่จับจนตึง ค้างไว้ 15 วินาที

ทุกท่าสามารถทำซ้ำได้เรื่อย ๆ เมื่อมีอาการนั่งทำงานต่อเนื่องนานหรือเมื่อรู้สึกว่ามีอาการเริ่มตึงคอบ่าไหล่ สำหรับท่านที่ความต้องการปรึกษาสุขภาพ สามารถปรึกษาหมอออนไลน์ที่ ABH Thai Med [คลิก] : https://lin.ee/47PRVjiFz