๗๐ ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, SEANF จัด กิจกรรมพิเศษ : สิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นปัจจัยเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum : SEANF) ซึ่งประกอบด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา ติมอร์-เลสเต และไทย ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดกิจกรรมพิเศษในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นปัจจัยเพื่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)” ในวันพฤหัสบดีที่
๑๓ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. ณ โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ ถนนเจริญนคร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนจากสถานทูตต่างประเทศในกรุงเทพฯ ผู้แทนหน่วยงานของสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ และผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องประมาณ ๑๐๐ คน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ
สิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยใช้มุมมองทางด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงเปิดโอกาสให้สมาชิกของ SEANF ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับภาคส่วนต่าง ๆ

ในโอกาสนี้ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวเปิด
การประชุมเน้นความเชื่อมโยงระหว่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกับเป้าหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยระบุว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นตราสารด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของสหประชาชาติที่ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๑ กิจกรรมพิเศษนี้จึงจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีของการรับรองปฏิญญาสากล เนื้อหาของปฏิญญาดังกล่าวครอบคลุมสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งยังคงมีความสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน และมีความเกี่ยวข้องกับวาระการพัฒนาปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ที่ได้รับการรับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๘ วาระการพัฒนาดังกล่าวประกอบด้วยเป้าหมาย ๑๗ ประการ ที่มีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชน สร้างความผาสุกสำหรับทุกคน ยุติปัญหาความยากจน ส่งเสริมงานด้านสาธารณสุขและการศึกษา บรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมการสร้างงานและ
ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งนี้ เป้าหมายที่ ๑๖ ของเป้าหมาย
เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยตรง เนื่องจากเป็นเป้าหมายที่มุ่งส่งเสริมให้สังคมมีความสงบสุข ลดความรุนแรงและการละเมิดสิทธิทุกรูปแบบ จัดให้มีการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับทุกคน และสร้างสถาบันที่ทำให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนและสามารถตรวจสอบได้

ในส่วนของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามหลักการปารีส ซึ่งมีบทบาทในฐานะกลไกเชื่อมระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ สามารถมีบทบาทในการส่งเสริมให้กระบวนการระดับชาติมีการบูรณาการเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ากับการดำเนินงานตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ สถาบัน
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังสามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้โดยผ่านการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการให้คำแนะนำแก่รัฐบาลเกี่ยวกับการนำสิทธิมนุษยชนไปสู่การปฏิบัติตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในส่วนของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานร่วมกันระหว่างปี ๑๕๖๐ – ๒๕๖๔ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็ง
ในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยงานของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคม แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้กำหนดให้เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญประเด็นหนึ่งด้วย

ในกิจกรรมพิเศษครั้งนี้ Ms. Katia Chirizzi รองผู้แทนระดับภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่
เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดและดำเนินการอภิปราย หัวข้อ
“สิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นปัจจัยเพื่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ทั้งนี้ ผู้อภิปรายในหัวข้อดังกล่าวประกอบด้วย Tan Sri Razali Ismail ประธานสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของมาเลเซีย
Ms. Sandrayati Moniaga รองประธานสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย Mr. Roberto Cadiz กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติ อดีตผู้เชี่ยวชาญอิสระของสหประชาชาติ และอดีตสมาชิกคณะกรรมาธิการไต่สวนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และ
Mr. Juan Santander รองผู้แทน UNICEF ประจำประเทศไทย ทั้งนี้ การอภิปรายจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในกรอบ SEANF ในการส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว