“รมว.พม.” ลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มเปราะบาง ที่โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง จ.สมุทรปราการ พร้อมย้ำประชาชนเป็นศูนย์กลาง และบูรณาการทำงานกับทุกกระทรวง

 

วันที่ 31 ก.ค.63 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ ณ โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เพื่อติดตามการดำเนินงานพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพให้กับครอบครัวกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเยี่ยมศูนย์เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน และ กศน. ตำบลบางโฉลง ศูนย์การเรียนชุมชน ซึ่งตั้งอยู่ภายในโครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง นอกจากนี้ ยังได้ประชุมทีม One Home จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ตามภารกิจของกระทรวง พม.

นายจุติ กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้ ตนได้เน้นย้ำให้คณะผู้บริหารกระทรวง พม. และหน่วยงานในพื้นที่ ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการให้บริการและความช่วยเหลือ ซึ่งจังหวัดสมุทรปราการเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายและมีปัญหาที่ซับซ้อน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งตนตั้งใจอยากให้จังหวัดสมุทรปราการเป็นห้องปฏิบัติการ พม. สำหรับการบูรณาการที่ทุกกระทรวงร่วมกันแก้ปัญหาวิฤติอย่างหลากหลายมิติ หากสามารถแก้ไขปัญหาในที่แห่งนี้ได้ จะเป็นต้นแบบสำหรับที่แห่งอื่นได้ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ขอให้มีความฉับพลันทันใดโดยให้เสร็จภายในพื้นที่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ยกเว้นแต่จะเกินกำลัง จึงให้แจ้งระดับกระทรวงเข้ามาช่วยกัน

 

 

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขณะนี้ ได้นำไปสู่วิกฤติการณ์ตกงานและกระทบถึงวิกฤติเศรษฐกิจ จนเกิดปัญหาสังคม เป็นงูกินหาง ซึ่งหากกระทรวง พม. และทุกกระทรวงไม่ช่วยกันแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องให้เกิดความยั่งยืน โดยการพัฒนาทุนมนุษย์ให้พึ่งตนเองได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งสงเคราะห์ โดยการฝึกอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายต้องมองไปถึงอาชีพที่ทันสมัยและยั่งยืนไปถึงอนาคตในอีก 10-15 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ขอให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เข้าไปค้นหากลุ่มเป้าหมายร่วมกับกระทรวงอื่น และเร่งช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เปิดปัญหาบานปลายจนกลายเป็นปัญหาสังคม รวมถึงการประสานให้เด็กอาชีวศึกษาลงพื้นที่ร่วมกับ พมจ. ทุกจังหวัด เพื่อช่วยซ่อมแซมและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มเป้าหมายในชุมชน ขณะเดียวกันในพื้นที่ที่พ่อ-แม่มีลูกเล็ก ประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย หรือขายพวงมาลัยบนถนนตามสี่แยก และต้องนำลูกตระเวนไปด้วย ตนอยากให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กหรือ Day Care ในพื้นที่ เพื่อช่วยดูแลเด็กระหว่างที่พ่อ-แม่ไปทำงาน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลและพัฒนาอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้ง ขอให้ พมจ. ทุกจังหวัด เก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนดูแลช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและทันเหตุการณ์ต่อไป

………………………………………………………………..