คณะรัฐมนตรีตอบรับข้อเสนอแนะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP)

วันที่  ๑๒  กันยายน ๒๕๖๑ นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทราบว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ มีมติรับทราบข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทาง
ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการะดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับ
สิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights-NAP) ของ กสม. ที่เสนอให้กับรัฐบาลไปก่อนหน้านี้

สำหรับข้อเสนอแนะของ กสม. กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับ
สิทธิมนุษยชน มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๒ ประเด็น ครอบคลุมการจัดทำนโยบายว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยคำนึงถึงปัญหาอุปสรรคและข้อท้าทาย การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้นำในการส่งเสริมการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนรวมถึงแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาช่องว่างทางกฎหมายและกระบวนการทางปกครองที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การมีกลไกการเยียวยาร้องทุกข์นอกกระบวนการยุติธรรมของรัฐที่มีประสิทธิภาพ

นางประกายรัตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลได้แสดงถึงเจตจำนงทางการเมืองและประกาศคำมั่นในการให้ความสำคัญกับประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เนื่องด้วย มติคณะรัฐมนตรีข้างต้นเป็นการรับทราบสรุปผลการดำเนินการตามที่กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีมติให้ความเห็นชอบข้อเสนอของ กสม. ทั้ง ๑๒ ประเด็น โดยเห็นว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวของ กสม. จะทำให้แผนปฏิบัติการฯ ที่รัฐบาลกำลังยกร่าง มีความชัดเจนและสอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศในระยะยาวต่อไป อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังนานาชาติในเรื่องนี้ด้วย

นางประกายรัตน์ กล่าวย้ำว่า แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ คือหัวใจของการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ดังนั้นในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (National Human Rights Institution) กสม. จึงได้สนับสนุนและติดตามการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ
ทั้งในด้านเนื้อหาผ่านข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี และกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส ตลอดจนรับฟังเสียงสะท้อนจากบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากธุรกิจ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้ กสม. มุ่งมั่นนำหลักสิทธิมนุษยชนมาเป็นหลักการสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ พร้อมทั้งยืนหยัดที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน
ทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิด
เพื่อเป็นการยกระดับการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศภายใต้ความท้าทายใหม่ ๆ ในระยาวต่อไป