พาณิชย์จับตาความคืบหน้า Brexit

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ว่า เหลือเวลาอีกประมาณ 7 เดือน การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรจะเริ่มมีผลในวันที่ 29 มีนาคม 2562 โดยขณะนี้ สหราชอาณาจักรอยู่ระหว่างเจรจา “ข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรป (Withdrawal Agreement)” และ “กรอบความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในอนาคต (Framework for a future relationship with EU)”

นางสาวพิมพ์ชนกฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สองฝ่ายสามารถตกลงในเนื้อหาร้อยละ 80 ของ Withdrawal Agreement เช่น การรักษาสิทธิพลเมือง ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านภาษี และวิธีคำนวณค่าชดเชย (divorce bill) ที่สหราชอาณาจักรต้องจ่ายให้สหภาพยุโรป จึงมีโอกาสสูงที่ สองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลง (Soft Brexit) ได้ภายใน 29 มีนาคม ศกหน้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (transition period) ให้สองฝ่ายปรับตัวอีก 21 เดือน ก่อนการแยกตัวมีผลสมบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม 2564

อย่างไรก็ตาม เพื่อดูแลให้การเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพแก่ประชาชน ผู้บริโภค และภาคธุรกิจ ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่เอกสาร Brexit with no deal และเอกสารเชิงเทคนิค (technical note) ชุดแรก รวม 25 ฉบับ เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนเตรียมตัวสำหรับกรณีที่สองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ โดยเอกสารชุดนี้เป็นการให้คำแนะนำ (guidance) ภาคปฏิบัติในด้านต่างๆ และสร้างความมั่นใจว่าภาครัฐมีการเตรียมความพร้อมสำหรับผลการเจรจา Brexit ทุกรูปแบบ ทั้งในด้านกฎหมาย การเพิ่มจำนวนบุคลากรภาครัฐ การรักษาความสัมพันธ์กับนานาประเทศ และงบประมาณ นอกจากนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรยังให้คำมั่นว่าจะเร่งเจรจาให้ได้ข้อตกลงที่สองฝ่ายยอมรับภายในฤดูใบไม้ร่วง (ประมาณเดือนตุลาคม) ของปีนี้

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประเมิน สถานการณ์ Brexit น่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในวงจำกัด โดยแม้ว่า Brexit อาจเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจการค้าโลก แต่ไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง (เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ การเกินบัญชีดุลสะพัดสูง และสัดส่วนเงินทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์ดี) ซึ่งจะทำให้รับมือกับความผันผวนภายนอกได้

ความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปยังเป็นไปด้วยดี การส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป (ไม่รวมสหราช-อาณาจักร) ขยายตัวได้ดี ในปี 2560 ที่ร้อยละ 5.98 และ 8.36 สำหรับช่วง 7 เดือนแรกของปี 2561 การส่งออกไปสหราชอาณาจักรหดตัวเล็กน้อย (ร้อยละ 1) แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรป (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) ยังขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 12.70 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ยังเติบโตดีทั้งในตลาดสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปมีหลายชนิด อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งนี้ คาดว่าหลัง Brexit จะส่งผลต่อการส่งออกไม่มากนัก และไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการที่สหราชอาณาจักรจะมีความยืดหยุ่นในการกำหนดนโยบายและเจรจาการค้ามากขึ้น

ในช่วงปี 2556-2560 การลงทุนของสหราชอาณาจักรในไทย และการลงทุนของไทยใน สหราชอาณาจักรและในสหภาพยุโรปโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น สำหรับด้านการท่องเที่ยวนั้น ในปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรลดลงเล็กน้อย เป็นผลจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวจากสหภาพยุโรปยังขยายตัวดีที่ร้อยละ 6.7

นางสาวพิมพ์ชนกฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า สนค. จะยังคงติดตามสถานการณ์ Brexit อย่างใกล้ชิด เพื่อหาช่องทางกระชับความสัมพันธ์และขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทยต่อไป