วธ. เปิดโครงการแปลหนังสือ วรรณคดีและวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียนฯ เชื่อมั่นหนังสือจะเป็นสื่อผสานความเข้าใจแม้ต่างวัฒนธรรม ภายใน 5 ปี ได้อ่านหนังสือแปลคัดสรรจาก 9 ประเทศ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิด “โครงการแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน” จัดโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เชิญ ผศ.ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง ประธานมูลนิธิวิชาหนังสือ และ นายมกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2555 ดำเนินงานโครงการ ผสานพลังสถานเอกอัครราชทูต กลุ่มประเทศอาเซียนทุกประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอาเซียนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ร่วมดำเนินการและคัดสรรหนังสือจากประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมเชิญศิลปินแห่งชาติด้านต่างๆ ร่วมสร้างสรรค์ คาดภายใน 2 ปี จะได้ยลโฉม เชื่อมั่นการเผยแพร่หนังสือชุดพิเศษ จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศกลุ่มสมาชิก ผ่านการเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจ นำไปสู่การยอมรับในคุณค่าและความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ภายในงานแถลงข่าววันนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมเล็ก นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานร่วมกับ นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, ผศ.ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง ประธานมูลนิธิวิชาหนังสือ, นายมกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2555 ตลอดจนผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนร่วมงานจำนวนมาก

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน  (Association of South East Asian nations; ASEAN) คือ องค์การระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย สมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เพื่อสร้างความร่วมมือด้านต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา จากการผสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำให้พลเมืองในแต่ละประเทศมีการปฏิสัมพันธ์กัน แต่ความเข้าใจด้านวัฒนธรรมระหว่างกันยังมีน้อย ด้วยเหตุความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ เชื้อชาติ โดยเฉพาะภาษา เป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันอยู่เนืองๆ และอาจนำไปสู่การเข้าใจผิดได้

นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า หนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรม เป็นการสร้างสรรค์เพื่อจรรโลงสติปัญญา เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงพัฒนาการแห่งวัฒนธรรมหนังสือและภาษา นอกจากถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านเรื่องราวและตัวละครจนทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการ บันเทิงใจ หรือซาบซึ้งคุณค่าของวรรณศิลป์แล้ว ยังถือเป็นแหล่งรวมแนวคิด ปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ความรู้ และภูมิปัญญา ที่แตกต่างกันตามท้องถิ่น และยุคสมัยของแต่ละประเทศแต่ละภาษาด้วย

“หนึ่งในแนวทางการสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ การเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศสมาชิกผ่านวัฒนธรรมหนังสือ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญและจำเป็นต่อการเปิดโลกทัศน์แห่งความรู้ให้คนไทยได้รู้ได้เห็นได้เข้าใจ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเป็นมิตร”

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการจัดพิมพ์หนังสือแปลในประเทศไทยยังมีปัญหา เพราะไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลกระบวนการ หรือกำหนดมาตรฐานคุณภาพ รวมถึงหนังสือมีราคาแพง ผู้ที่เข้าถึงหนังสือแปลจึงมีวงจำกัด “กระทรวงวัฒนธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมรวมทั้งความรู้ความคิดอื่นๆ ในภูมิภาคนี้แก่คนไทย และเล็งเห็นปัญหาระบบหนังสือภายในประเทศ จึงริเริ่มโครงการแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียนเป็นภาษาไทยขึ้น เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศอาเซียนโดยใช้หนังสือเป็นสื่อกลาง ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้น ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วยหนังสือ ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง”

นายอิทธิพล ยังเผยถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่า มุ่งจะให้เกิดการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยวัฒนธรรมหนังสือ และเชื่อมโยงวัฒนธรรมในประเทศอาเซียนให้เป็นเอกภาพ และส่งเสริมการเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของแต่ละประเทศผ่านวรรณกรรมและหนังสือประเภทต่างๆ ฉบับแปลภาษาไทย อันจะส่งผลให้เกิดผลงานที่ครอบคลุมมิติทางวัฒนธรรม และวิชาความรู้อันหลากหลาย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายด้านการแปลหนังสือทุกประเภท ระหว่างนักประพันธ์ ผู้ถือลิขสิทธิ์ ตัวแทนลิขสิทธิ์ ผู้แปล บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ วงการพิมพ์ ผู้อ่าน และประชาชนทั่วไป ตลอดรวมถึงการเผยแพร่ผลงานศิลปินแห่งชาติของแต่ละประเทศ

การดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมเชิญ นายมกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2555 เป็นประธานโครงการในนามมูลนิธิวิชาหนังสือ

นายมกุฏ อรฤดี เปิดเผยว่า “เราเริ่มงานนับแต่ปีที่แล้ว กระทรวงวัฒนธรรมมีหนังสือไปยังกระทรวงต่างประเทศของทั้ง 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ผ่านสถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทย เพื่อขอให้เสนอรายชื่อหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติ และเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอาเซียนจากมหาวิทยาลัยและบุคคลทั่วไปให้มีส่วนร่วมในการเสนอรายชื่อหนังสือหรือต้นฉบับแปล ขณะเดียวกันประธาน และรองประธานโครงการฯ ก็กำหนดคุณสมบัติ เกณฑ์การพิจารณา และรับสมัครบุคลากรดำเนินงานโครงการฯ ตามลำดับขั้นตอน คือ ประกาศรายชื่อหนังสือที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเสนอ รวมทั้งให้บุคคลทั่วไปมีส่วนร่วมเสนอรายชื่อหนังสือที่ต้องการให้แปลประกอบการพิจารณา

หนังสือที่คัดเลือกสำหรับปีนี้ มีจำนวน 130 ชื่อเรื่อง ครบทุกหมวดหมู่ทุกประเภท ตั้งแต่นิทานพื้นบ้าน อาหาร ดนตรี วรรณกรรม หนังสือภาพสำหรับเด็ก หนังสือรางวัลระดับชาติ ผลงานนักเขียนซีไรต์จากทุกประเทศ ผลงานของบุคคลสำคัญของประเทศ เช่น ตำหรับอาหารสมเด็จพระราชินีมาเลเซีย ‘รสมือพระราชินีแห่งปาหัง’ และตำหรับอาหารของมารดานายลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ นอกจากนั้นที่พลาดไม่ได้ โครงการได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจารึกเขมร คัดเลือกตำราไสยศาสตร์เขมร และผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่า คัดเลือกตำราโหราศาสตร์พม่าเล่มสำคัญ มาแปลให้คนไทยได้อ่านและศึกษาเรียนรู้ด้วย รายชื่อหนังสือเหล่านี้จะประกาศในเว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจและนักแปลภาษาต่างๆ เลือกหนังสือที่สนใจและสมัครเป็นผู้แปลได้  รายละเอียดการเปิดรับสมัครผู้แปลจะประกาศให้ทราบต่อไป”

“การดำเนินการด้านลิขสิทธิ์หลังจากได้ผู้แปลแล้ว และเมื่อแปลเสร็จผ่านการตรวจแก้ต้นฉบับ ก็จะประกาศรายชื่อต้นฉบับหนังสือให้สำนักพิมพ์ต่างๆ เสนอตัวเพื่อตีพิมพ์และจัดจำหน่าย สำนักพิมพ์ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น มีเงื่อนไขอยู่บ้างเล็กน้อยในการจัดจำหน่าย คือหนังสือชุดนี้ต้องวางจำหน่ายในร้านหนังสือทั่วประเทศโดยไม่ลดราคาแข่งขันกัน ทั้งสำนักพิมพ์และร้านจำหน่ายหนังสือ เพื่อเป็นหนทางอีกทางหนึ่งให้ร้านหนังสือทั่วไปดำเนินกิจการได้ และผู้อ่านไม่ต้องกังวลหรือคอยติดตามว่าจะซื้อหนังสือลดราคาจากที่ใด นอกจากนี้จะจัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือแปลในโครงการฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านหนังสือ ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนทั่วไป วิธีนี้เป็นการเชื่อมโยงกับโครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับมูลนิธิวิชาหนังสือซึ่งดำเนินการอยู่ในร้านหนังสืออิสระเกือบ 50 แห่งทั่วประเทศ คาดหมายว่าจะใช้เวลาดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จภายใน 2-5 ปี ไม่นานเกินรอที่ทุกคนจะได้เห็นหนังสือชุดพิเศษนี้”

“โครงการฯ นี้ จะก่อให้เกิดการส่งเสริมการเรียนรู้และเกิดความเข้าใจวัฒนธรรมประเทศอาเซียนผ่านวรรณกรรมและหนังสือทุกประเภท ไม่จำเพาะแต่วรรณกรรม ทว่าครอบคลุมทั้งหมดที่แสดงถึงความเป็นชาตินั้นๆ อันจะนำไปสู่เครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชาติด้านต่างๆ และฟื้นฟูระบบหนังสือ ระหว่างนักแปล ผู้ถือลิขสิทธิ์ ตัวแทนลิขสิทธิ์ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ หน่วยการพิมพ์ ผู้อ่าน และประชาชนที่สนใจทั่วไป สำคัญที่สุด คือ การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวัฒนธรรมให้กลุ่มประเทศอาเซียนอย่างกว้างขวาง ทั่วถึง และยั่งยืนยาวนาน” ศิลปินแห่งชาติ หัวเรือใหญ่โครงการฯ กล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยังเผยถึงความคาดหวังที่จะได้รับจากโครงการนี้ด้วยว่า “เราเชื่อว่าจะเกิดความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอันดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรม อันรวมเป็นวัฒนธรรมหนังสือ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปมีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศอาเซียน นำไปสู่การยอมรับคุณค่าทางวัฒนธรรม และความแตกต่างทางหลากหลายวัฒนธรรมของกันและกัน โดยเฉพาะการสร้างชาติด้วยหนังสือและความรู้”

……………………………………………………………………………………………

ติตตามความเคลื่อนไหวและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th/culture_th