กรมอุทยานฯ และภาคีเครือข่าย จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 ภายใต้แนวคิด “ป่าไทยไม่ไร้เสือ – Roar for Thai Tigers”

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเทศไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิฟรีแลนด์ และแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 ภายใต้แนวคิด “ป่าไทยไม่ไร้เสือ – Roar for Thai Tigers”

วันเสือโคร่งโลก (Global Tiger Day) ถือกำเนิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ในปี พ.ศ. 2553 โดยที่ประชุมมีมติให้มีการรณรงค์อนุรักษ์ เสือโคร่ง ทุกวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี และในปีเดียวกันนี้ ประเทศไทยได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีในทวีปเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีผู้แทนจากประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง จำนวน 13 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในการประชุมดังกล่าว ทั้ง 13 ประเทศ ต่างประกาศเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามปฏิญญาหัวหิน เรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ให้มากขึ้นเป็นสองเท่า ภายในปี พ.ศ. 2565

นายพงศ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติ เป็นประธานในงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 (Global Tiger Day 2020) ภายใต้แนวคิด “ป่าไทยไม่ไร้เสือ – Roar for Thai Tigers” พร้อมทั้งนายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  นายสมปอง ทองศรีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ผู้แทนเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผู้แทน เอกอัคราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมทั้งผู้แทนจากองค์กรที่ร่วมจัดงาน เช่น wcs TRAFFIC  มูลนิธิสืบฯ คณะวนศาสตร์ มก. ผู้นำเยาวชนกระเหรี่ยงทุ่งใหญ่ สมาคมผู้พิทักษ์ป่า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 14.00 น.

นายพงศ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่ายินดีที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และองค์กรพันธมิตร ร่วมกันจัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 ขึ้น และยังเป็นโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งด้วย รัฐบาลไทยตระหนักถึงคุณค่าของเสือโคร่งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างยิ่ง เสือโคร่ง เป็น Umbrella species ผืนป่าที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่จะมีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพ อุดมไปด้วยสัตว์ป่าทั้งที่เป็นเหยื่อและสัตว์ป่าอื่น ๆ และสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด ในปี 2563 เรามีเสือโคร่งในธรรมชาติประมาณ 160 ตัว เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 60-80 ตัว เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั่วโลกว่า ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทีมนักวิจัย จากองค์กรที่เกี่ยวข้อง ความทุ่มเทในการทำงานของทุกท่านได้ประสบผลสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เกินความคาดหมาย และจะต้องสำเร็จผลเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต”

 

นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงการจัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 ว่า “การจัดงานวันเสือโคร่งโลกในปีนี้ กรมอุทยานฯ และองค์กรพันธมิตร หวังให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าของเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ของโลก และต้องการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทย ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ พัฒนาแนวทางการดำเนินงานด้านนี้ขึ้น ทั้งงานด้านวิชาการ งานป้องกันปราบปราม งบประมาณ ศักยภาพของเจ้าหน้าที่ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนต้องการที่จะหาแนวร่วมจาก คนรุ่นใหม่เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ให้ยั่งยืนสืบไป”

กิจกรรมในงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 ประกอบด้วย
1) การเสวนาเรื่อง “ป่าไทยไม่ไร้เสือ – Roar For Thai Tigers”วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดและทัศนคติที่มีต่อเสือโคร่งจากบุคคลที่มีบทบาทในสังคมแตกต่างกัน
– ดำเนินรายการโดย ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์
– ร่วมเสวนาโดย ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ (ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทย), ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ (นักวิจัยเสือโคร่ง)และเต้ย จรินทร์พร (ดารานักแสดง)
2) Tiger Talk อนาคตเสือไทย อนาคตเสือโลก วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 ซึ่งเป็นการร่วมพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการอนุรักษ์เสือโคร่งของไทยสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งของโลก จากมุมมองของนักวิจัย ผู้พิทักษ์ป่า ผู้แทนองค์กรด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า และผู้นำชุมชนในพื้นที่กันชน (buffer zone)
3) นิทรรศการ 6 เรื่อง ได้แก่ หัวใจแห่งการเรียนรู้เสือโคร่ง หัวใจแห่งการปกป้องเสือโคร่ง หัวใจแห่งการเพิ่มจำนวนเสือโคร่ง หัวใจแห่งการกำหนดทิศทางการอนุรักษ์เสือโคร่ง หัวใจแห่งการสนับสนุนงานอนุรักษ์เสือโคร่ง และหัวใจแห่งการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน จัดแสดงบริเวณผนังโค้ง ชั้น 5 ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2563

ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช