สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ นำศาสตร์กายภาพบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยด้วยเครื่องมือพิเศษ

สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ ให้บริการงานกายภาพบำบัด รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ ร่วมกับส่งเสริมสุขภาพและป้องกันภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วย คนพิการ โดยนำเทคโนโลยีฟื้นฟูการเคลื่อนไหวเสริมประสิทธิภาพการรักษา

นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กายภาพบำบัด เป็นวิชาชีพเฉพาะทางและเป็นศาสตร์ด้านหนึ่งในวงการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยมีรูปแบบการทำงานเพื่อส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟูความเสื่อมสภาพ ความพิการของร่างกาย ด้วยเทคนิคเฉพาะและเครื่องมือทางกายภาพบำบัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายเพื่อการรักษา ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยและคนพิการสามารถกลับสู่สภาวะปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล กรมการแพทย์โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้จัดตั้งงานกายภาพบำบัดเพื่อให้การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ร่วมกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยมีเป้าหมายให้บริการที่ตอบสนองต่อการเป็นผู้นำด้านบริการสุขภาพระดับชาติด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ทั้งนี้ศาสตร์กายภาพบำบัดสามารถตรวจประเมินเพื่อวิเคราะห์สาเหตุและใช้วิธีการทางกายภาพบำบัดในการรักษาโรคต่าง ๆ  ร่วมกับเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น เครื่องอัลตราซาวนด์ลดปวด เครื่องเลเซอร์ เครื่องให้ความร้อนลึกรักษา เป็นต้น โดยมีเป้าหมายในการรักษาอาการปวดและทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ

กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มโรคสำคัญที่เปิดให้บริการ ได้แก่ โรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่มาด้วยอาการปวดไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติซึ่งส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยโรค Office Syndrome ที่มีอาการปวดจากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การใช้มือถือเป็นเวลานานต่อเนื่อง และผู้สูงอายุที่มีโรคที่เกิดจากความเสื่อมอีกกลุ่มโรคหลักที่เป็นบทบาทสำคัญของสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ คือโรคทางระบบประสาทสมอและ      ไขสันหลัง รวมถึงผู้ป่วยเด็กสมองพิการตั้งแต่กำเนิด ซึ่งสถาบันฯมีหน้าที่หลักในการดูแลผู้ป่วยและคนพิการกลุ่มนี้ ในระยะฟื้นฟู ความท้าทายของสถาบันฯคือการช่วงชิงนาทีทองของการฟื้นฟูในการรักษาผู้ป่วย และคืนผู้ป่วยกลุ่มนี้   สู่สังคมให้ได้มากที่สุดรวมทั้งการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การรักษาผู้ป่วยระบบประสาทมีการทำงานร่วมกันเป็นทีมสหวิชาชีพทั้งแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักกายอุปกรณ์ นักอรรถบำบัด พยาบาลฟื้นฟูฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีช่วยเหลือทางการเคลื่อนไหว นักสังคมสงเคราะห์ ศาสตร์ของกายภาพบำบัดจะมีบทบาทสำคัญด้านการฟื้นฟูความสามารถทางการเคลื่อนไหวให้แก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีนาทีทองในการฟื้นฟูเป็นเดิมพัน การรักษาเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง จึงได้นำเทคโนโลยีฟื้นฟูการเคลื่อนไหว เข้ามาฝึกผู้ป่วย ได้แก่ หุ่นยนต์ฝึกเดิน เครื่องฝึกการทรงตัว อุปกรณ์ฝึกการเคลื่อนไหวด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือพิเศษเหล่านี้จะส่งเสริมประสิทธิภาพการรักษาและช่วยทีมสหวิชาชีพในการปฏิบัติงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย