หมอเตือนพลูคาว ใช้หยอดตาไม่ได้ อย่าหลงเชื่อ แนะใช้ให้ถูกวิธีกับโรคต่างๆ

หมอเตือนอย่าหลงเชื่อการนำสมุนไพรพลูคาวใช้กับโรคตาต้อ ยืนยันไม่มีการใช้ในคัมภีร์โรคตาของไทย แต่พลูคาวมีสรรพคุณเด่น ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน กินเป็นอาหารดีต่อสุขภาพ หากใช้เป็นยาควรปรึกษาแพทย์

นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะโฆษกกรม กล่าวว่า กรณีข่าวการใช้สมุนไพรพลูคาวใช้หยอดตาอ้างรักษาโรคตาต้อจึงอยากให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ประชาชนว่า  ในตำรายาไทยหรือที่เรียกว่าคัมภีร์อภัยสันตาเป็นตำราเกี่ยวกับโรคตาทุกชนิดไม่มีบันทึกการนำพลูคาวมาใช้กับโรคตาต้อ ดังนั้น อย่าหลงเชื่อการชักชวนจากพ่อค้าขายตรงหรือการโฆษณา   ผ่านสื่อต่าง ๆ เด็ดขาด เพราะจะเกิดอันตรายตามที่เห็นในข่าวเพราะการติดเชื้อทำให้ตาบอด จากการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย มิหนำซ้ำยังทำให้สรรพคุณดี ๆ ของสมุนไพรเสื่อมเสียไปด้วย จึงขอความร่วมมือจากผู้บริโภคต้องพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า จะใช้เพื่ออะไร ทำไมต้องใช้ และต้องใช้ให้ถูกวิธี ถูกกับโรค

สำหรับสมุนไพรพลูคาว หรือผักคาวตอง เป็นพืชพื้นบ้านของไทย รับประทานเป็นผักแกล้มอาหาร ตามวิถีพื้นบ้านปกติมาช้านาน พบมากทางภาคเหนือ มักขึ้นเองตามธรรมชาติและจากการเพาะปลูก พลูคาวเป็นพืชที่ต้องการร่มเงาและความชื้นสูง จึงนิยมปลูกใกล้กับแหล่งน้ำ มีแสงแดดไม่มาก ขยายพันธุ์ง่าย ๆ โดยวิธีการปักชำ สำหรับข้อมูลการใช้รักษาโรคของประเทศต่าง ๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และภูมิภาค       เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการใช้พลูคาวในการขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต ลดการอักเสบ และเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย มีข้อมูลการศึกษาวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันการศึกษาหลายแห่งพบว่า พลูคาวช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยเสริมการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด macrophage มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase เป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสร้าง prostagrandins ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการอักเสบ และยังมีฤทธิ์กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี การรับประทานในรูปแบบน้ำและผงแห้ง ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 20 วัน เพราะอาจจะทำให้เกิดรอยจ้ำแดง บริเวณผิวหนังได้

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมุ่งใช้หลักการสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชนให้ เข้าถึงข้อมูล เข้าใจ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และบอกต่อได้อย่างถูกต้อง ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ หากไม่มั่นใจในสรรพคุณ หรือวิธีการใช้สมุนไพร สามารถติดต่อสอบถามมายังกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 02-5917007 หรือสอบถามผ่านไลน์แอดของกรมฯ หรือเฟสบุ๊ค หรือเว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th เพื่อรับรู้ข่าวสารด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยจะมีนักวิชาการอธิบายและตอบข้อสงสัยให้ท่าน

อย่างไรก็ตามอยากเตือนประชาชน เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรหรือภูมิปัญญาไทยการแพทย์แผนไทยในรูปแบบต่าง ๆ ขอให้ใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์พิจารณาข้อมูล อย่างรอบคอบ อย่าด่วนตัดสินใจ ศึกษาจากผู้รู้ก่อนใช้