กรมการแพทย์แนะการใช้ยาในผู้สูงอายุ

แพทย์ชี้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากการใช้ยาและเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย เหตุจากโรครุมเร้า รับประทานยาหลายชนิด และต้องจัดเตรียมยาเอง โดยพบว่าผู้ป่วยที่เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา 1 ใน 3 มักเป็นผู้สูงอายุ

นายแพทย์ปานเนตร  ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุประมาณ 18 ล้านคน ซึ่งผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่มีการใช้ยาในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด โดยอาจเป็นยาที่แพทย์สั่งและยาจากแหล่งอื่นๆ เช่น ยาที่ซื้อรับประทานเอง ยาสมุนไพร ดังนั้น แพทย์ที่ดูแลผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรู้หลักการและปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาในผู้สูงอายุ ตลอดจนการสั่งยาอย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้สูงอายุมีโรคร่วมหลายอย่างและมีโอกาสได้รับยาหลายชนิด โดยเฉลี่ยผู้สูงอายุ 1 คน จะมียาตามแพทย์สั่ง 4 – 5 ชนิด และอาจมี 2 ชนิดจากการซื้อยามารับประทานเอง นอกจากนี้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดเตรียมยาเพื่อรับประทาน เช่น ลืมกินหรือกินซ้ำ ทำให้เป็นกลุ่มมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ซึ่งพบว่าผู้ป่วยที่เกิดผลข้างเคียง 1 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุและต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลถึงร้อยละ10 – 20

นายแพทย์ประพันธ์  พงศ์คณิตานนท์  ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ  กรมการแพทย์
กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในผู้สูงอายุมีผลต่อการใช้ยา ทำให้การดูดซึมยาลดลง การกระจายตัวของยาไม่ค่อยดี  นอกจากนี้อาจพบปริมาณยาที่ค้างในร่างกาย และพบว่าการกำจัดยาทางไตทำได้ลดลง  ผู้สูงอายุยังมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอีกหลายอย่างที่ส่งผลต่อการใช้ยา เช่น มีความไวต่อยาบางชนิดเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีความไวต่อยาบางชนิดลดลง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหากับการสั่งยาในผู้สูงอายุอย่างมาก ทั้งนี้ ผู้สูงอายุสามารถป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ด้วยการปฏิบัติดังนี้ 1. เมื่อพบแพทย์ควรมีรายละเอียดของชื่อยาที่รับประทาน ชื่อโรค และประวัติการแพ้ยาติดตัวไปด้วย 2. เริ่มต้นการรักษาแบบไม่ใช้ยา เช่น ท้องผูกควร ดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง 3. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอและติดตามการรักษากับแพทย์เป็นระยะ อย่านำตัวอย่างยาเดิมไปซื้อมารับประทานเอง 4. นำยาทั้งหมดไม่ว่าจะได้รับจากที่ใดไปให้แพทย์ตรวจเช็คเป็นระยะ  5. หลีกเลี่ยงการซื้อยาสมุนไพร ยาหม้อ และยาลูกกลอนมารับประทานเอง เนื่องจากอาจมีผลเสียต่อร่างกาย 6. ควรตรวจดูวันหมดอายุ  ของยา และอย่าเก็บยาที่เหลือไว้รับประทานครั้งต่อไป เนื่องจากยาอาจหมดอายุหรืออาจไม่ใช้ยาตัวเดิม 7. ควรปรึกษาแพทย์ถึงสาเหตุที่จะหยุดยา เช่น เกิดผลข้างเคียง ยาไม่ได้ผล วิธีการใช้ยาซับซ้อนเกินไป ยาแพงเกินไป 8. รับการรักษาและติดตามกับแพทย์คนเดิม                 หากต้องรักษากับแพทย์มากกว่า 1 คน ต้องนำประวัติเก่าและรายการยาที่ใช้อยู่มาแจ้งให้แพทย์ทราบ แพทย์ที่รักษาผู้สูงอายุต้องตรวจสอบยาทั้งหมดที่ผู้สูงอายุได้รับทุกแหล่ง และพิจารณายาที่อาจมีปฏิกิริยาต่อกัน