ไทย-ลาว จับมือดันการค้าทะลุ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 64 เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ กระชับความสัมพันธ์การค้าการลงทุน

ไทย-ลาว จับมือดันการค้าทะลุ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 64

เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ กระชับความสัมพันธ์การค้าการลงทุน

พร้อมอำนวยความสะดวกและเร่งแก้ไขอุปสรรค ผ่านระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน 

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุมแผนความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครั้งที่ 7 และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจไทย-สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน 2561 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ประสบความสำเร็จด้วยดี จับมือกระชับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ มุ่งเดินหน้าขยายการค้าให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 จาก 6,170 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560

นายสนธิรัตน์ เสริมว่า ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าดังกล่าว สองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งของไทย-สปป.ลาว และภายในภูมิภาค ล่าสุดทั้งสองฝ่ายพร้อมให้ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ระหว่างมุกดาหาร-สะหวันนะเขต เป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area หรือ CCA) ที่จะอำนวยความสะดวกการนำเข้าส่งออกระหว่างไทย-สปป.ลาว อย่างมาก สามารถตรวจเอกสารพิธีการนำเข้า-ส่งออกที่เกี่ยวกับ 2 ประเทศในจุดเดียว ไทยยังแจ้งลาวว่าพร้อมสนับสนุน สปป.ลาว ในการเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window หรือ ASW) ให้แล้วเสร็จในช่วงการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ที่ปัจจุบันต้องส่งไปตรวจที่เวียงจันทน์ นอกจากนี้ ไทยยังพร้อมช่วยเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรในเรื่องต่างๆ ของ สปป.ลาว โดยเฉพาะ SME ผ่านโครงการ CLMVT และโครงการ YEN-D เป็นต้น พร้อมกันนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของกันและกัน โดยพิจารณาความเป็นไปได้ของการมีเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกันในบริเวณชายแดนที่อยู่ติดกัน การใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งทางรางที่มีอยู่ให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาเครือข่ายเส้นทางรถไฟระหว่างไทย-สปป.ลาว และการดำเนินการตามความตกลงด้านการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและเชื่อมโยงการขนส่งภายในภูมิภาค ในการนี้ ไทยได้ขอให้ สปป.ลาว ปรับการเก็บค่าธรรมเนียมขนส่งสินค้าผ่านแดนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกด่าน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนต้นทุนค่าขนส่งได้ ทั้งสองฝ่ายยังจับมือกันสร้างกลไกความร่วมมือในการระงับข้อพิพาททางการค้าของภาคธุรกิจ การส่งเสริมความร่วมมือทรัพย์สินทางปัญญาและดูแลไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า เพื่อส่งเสริมการค้าและลงทุนระหว่างกันให้แน่นแฟ้นและขยายตัวมากขึ้น

นายสนธิรัตน์ เพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังได้จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจคู่ขนานไปกับ การประชุม JTC เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างนักธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศ โดยมีผู้ประกอบการ SMEs จากทั้ง 2 ประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวกว่า 80 คน ผลการจัดกิจกรรมประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง SMEs ของทั้งสองประเทศ นักธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่าย สนใจที่จะซื้อ ขาย และเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจร่วมกัน สินค้าไทยที่ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจ สปป.ลาว ได้แก่ สินค้าวัสดุก่อสร้าง รวมทั้ง ธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ เสริมว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมภาคเศรษฐกิจเพื่อเตรียมนำผลรายงานต่อการประชุมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการไทย-สปป.ลาว ครั้งที่ 3 ในช่วงปลายปี 2561

ปัจจุบัน สปป.ลาว เป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของไทยในอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทยในโลก การค้าของไทยกับ สปป.ลาว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 5,662.42 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.78 ต่อปี ในปี 2560 การค้ารวมไทย-สปป.ลาว มีมูลค่า 6,170.01 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญไป สปป.ลาว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ  เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอางค์ สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาสิว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ