ชป.เตรียมพร้อมรับมือฝนที่อาจตกเพิ่มขึ้น กำชับเจ้าหน้าที่ติดตาม-เฝ้าระวัง ช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ

หลายพื้นที่ในประเทศไทย เริ่มมีแนวโน้มฝนตกดีขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผืนดินและพื้นที่การเกษตรได้บ้างเกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ หากมีมีฝนตกสม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำเก็บกักเพียงพอ ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้มากที่สุด พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ชลประทานทุกโครงการฯ ติดตาม-เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมใช้งาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันที

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 19 – 23 ก.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในช่วงวันที่ 24 – 25 ก.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(20 มิ.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 31,627 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 7,986 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 44,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,416 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 720 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (20 มิ.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 6,000 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,121 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิ.ย. 63)  ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 8.08 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 3.01 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 37 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่)

ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาช่วงสิงหาคม – กันยายน ประเทศไทยจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นแนวโน้มที่ดีที่จะมีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจะต้องเก็บกักน้ำในทุกพื้นที่ไว้ให้มากที่สุด เนื่องจากต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศเป็นหลัก และจัดสรรน้ำช่วยด้านการเกษตรบางส่วนในกรณีฝนน้อย ทั้งนี้ ได้กำชับโครงการชลประทานทุกพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำที่สำคัญอย่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้เตรียมความพร้อมอาคารชลประทาน เครื่องจักรเครื่องมือ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา รวมถึง กำจัดผักวัชพืชและผักตบชวาไม่ให้กีดขวางทางน้ำ พร้อมทำเครื่องมือกั้นลำน้ำพาราล็อคบูม เพื่อหยุดผักตบไม่ให้ไหลไปแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำอื่นๆ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ

 ……………………………………

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

20 มิถุนายน 2563