“ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ เพื่อการบริการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน”

โครงการระบบการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ในลุ่มน้ำทั่วประเทศ จำนวน 25 ลุ่มน้ำ (โครงการระยะที่ 1) เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และตอบสนองเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีความเป็นเอกภาพ และเกิดการบูรณาการในภาพรวมของประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการจัดการน้ำและประเมินดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำภายใต้โครงการระบบการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำทั่วประเทศ จำนวน 25 ลุ่มน้ำ (โครงการระยะที่ 1) เพื่อรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากหน่วยงานต่างๆ และทำการจัดเก็บเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อจัดทำดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่มีความจำเป็นต่อการตัดสินใจในการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ จะช่วยทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนทั่วไปทราบสถานะของการจัดการน้ำ ในระดับพื้นที่ย่อย เช่น ตำบล อำเภอ จังหวัด ลุ่มน้ำย่อย ลุ่มน้ำ และระดับประเทศ ในมิติต่างๆ

ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ที่ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดการประชุมเพื่อนำเสนอข้อมูลและผลการจัดทำดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ(Water Management Index, WMI) ของประเทศไทย ทั้งในระดับพื้นที่ย่อย อำเภอ จังหวัด ลุ่มน้ำย่อย ลุ่มน้ำ

โดย ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ 8 มิติ และตัวชี้วัดต่างๆ 59 ตัวชี้วัด ได้มาจากการระดมความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำและการพัฒนาประเทศ และนำไปกำหนดรายการข้อมูลที่ต้องใช้  แล้วรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 40 หน่วยงาน และได้ทำการสำรวจข้อมูลที่ต้องการเพิ่มเติมในระดับครัวเรือน และประเมินดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำของประเทศไทยในระดับพื้นที่ย่อยทั้งในระบบขอบเขตการปกครอง และขอบเขตลุ่มน้ำ

ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ 8 ด้าน หรือ 8 มิติ ประกอบด้วย

มิติที่ 1 ต้นทุนทรัพยากรน้ำ มิติที่ 2 การจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค มิติที่ 3 ความมั่นคงของน้ำเพื่อการพัฒนา มิติที่ 4 ความสมดุลของน้ำต้นทุนและการใช้น้ำ มิติที่ 5 การจัดการคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมน้ำ มิติที่ 6 การจัดการภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ มิติที่ 7 การจัดการและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และ มิติที่ 8 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

รายการดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ (WMI) 8 มิติ ของประเทศไทย

ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำในระดับประเทศ 

ผลผลิตที่สำคัญของโครงการ คือ ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำมิติต่างๆ 8 มิติ และ ตัวชี้วัดการจัดการน้ำต่างๆ 59 ตัวชี้วัด พร้อมทั้งข้อมูลที่ใช้ประเมินรวม 92 ตัวแปร  จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามสภาพปัญหาในเชิงพื้นที่และสาเหตุของปัญหา จุดอ่อน จุดแข็ง ของแต่ละพื้นที่ สามารถยกระดับการวางแผนแก้ปัญหาด้านน้ำได้ตรงความต้องการของประชาชน รองรับการผลิตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และยังช่วยคงความสมดุลของการใช้น้ำ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  เกิดการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐและประชาชนที่เกี่ยวข้อง และสามารถใช้ในการวางแผนการเก็บข้อมูลเพื่อการจัดการน้ำในระดับท้องถิ่นได้ดีในอนาคต เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องรับโอนภารกิจด้านน้ำไปดำเนินการหลายๆ ภารกิจ โดยเฉพาะการวางแผนและกำหนดนโยบายด้านน้ำในระดับท้องถิ่น และ การจัดการอุปสงค์และอุปทานน้ำให้สมดุลตามศักยภาพของทรัพยากรน้ำของท้องถิ่นของตนเองด้วย การประเมินดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีค่า ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ หรือ WMI  เท่ากับ 3.43 ถือว่าอยู่ใน ระดับมีประสิทธิภาพ

โดยมีค่าดัชนีชี้วัดสูงสุดในมิติที่ 2 คือ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค อยู่ในระดับต้นแบบ แสดงให้เห็นว่าประชาชนสามารถเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคได้ค่อนข้างทั่วถึง  ทั้งครัวเรือนในเขตเมืองและเขตชนบท ส่วนค่าดัชนีชี้วัดต่ำสุด ปรากฏในมิติที่ 8 คือ มิติของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อยู่ในระดับพอใช้ เนื่องจาก การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการน้ำยังมีไม่มากพอ ระบบติดตามปริมาณและคุณภาพน้ำยังไม่ครอบคลุม แผนงานต่างๆ และงานวิจัยสนับสนุนการจัดการน้ำยังมีน้อย

ส่วนมิติที่ 1 ความมั่นคงด้านต้นทุนทรัพยากรน้ำ จัดอยู่ในระดับมีประสิทธิภาพทั้งต้นทุนของน้ำผิวดินและน้ำบาดาล ในมิติที่ 3 ความมั่นคงของน้ำเพื่อการพัฒนา อยู่ในระดับปานกลาง โดยมีผลิตภาพการใช้น้ำโดยรวมค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีค่าสูงในภาคบริการและต่ำมากในภาคเกษตรกรรม  มีพื้นที่ชลประทานในสัดส่วนที่มากแต่ยังแตกต่างกันมากในภูมิภาคต่างๆ  ส่วนมิติที่ 4 ความสมดุลของน้ำต้นทุนและการใช้น้ำ พบว่า ในภาพรวมประเทศไทยยังมีการใช้น้ำในทุกภาคส่วนสมดุลกับน้ำต้นทุนที่มีอยู่และยังมีน้ำต้นทุนเหลือให้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาได้อีก แต่มีการใช้น้ำเกินสมดุลในบางพื้นที่ ส่วนมิติที่ 5 คุณภาพน้ำอยู่ในระดับพอใช้ มีการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมน้ำและมีการจัดการน้ำรักษาระบบนิเวศเพียงพอ ในมิติที่ 6 การจัดการภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ พบว่า สามารถรับมือภัยแล้งและอุทกภัยได้ดี มีความเสียหายไม่มากและฟื้นฟูได้รวดเร็ว ในมิติที่ 7 การจัดการและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ พบว่า ประเทศไทยมีป่าไม้เพียงพอ อุดมสมบูรณ์และมีการจัดการป่าต้นน้ำที่ดี

เมื่อพิจารณาในเชิงพื้นที่ลุ่มน้ำ ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำมีค่าอยู่ในช่วง 2.64-3.86 โดยลุ่มน้ำส่วนใหญ่มีค่าดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำในระดับ มีประสิทธิภาพ ยกเว้น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มูล และท่าจีน ที่มีดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำในระดับ มีศักยภาพดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำรายลุ่มน้ำ

ทั้งนี้ทาง สำนักงานสถิติแห่งชาติ จะทำการนำเสนอข้อมูลและดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ ในทุกระดับของขอบเขตการปกครอง และขอบเขตลุ่มน้ำผ่านเว็บไซต์ ของทางสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานและประชาชนที่สนใจได้เข้าถึงข้อมูลและใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนบริหารจัดการน้ำได้อย่างทั่วถึงต่อไป