นายกฯ วอนชาวอ่างทองอย่าปิดถนน เหตุน้ำต้นทุนน้อย สั่งกรมชลฯ แก้ไข ด้านชป. เตรียมระบายเข้าแม่น้ำน้อยเพิ่ม หลังวางแผนนำน้ำเหนือมาเสริมเขื่อนเจ้าพระยาได้ระดับดูแลนาข้าวที่เพิ่มเพาะปลูก    

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในเรื่องปัญหาประชาชนในพื้นที่จังหวัดอ่างทองจะปิดถนนเพราะไม่มีน้ำทำการเกษตรว่า ขอร้องชาวอ่างทองอย่าปิดถนน เพราะต้องดูแหล่งน้ำด้วยว่ามีน้ำต้นทุนเท่าไหร่อย่างไร ปัญหาน้ำอุปโภค บริโภค รัฐบาลก็ต้องดูแล

ทั้งนี้ ได้ให้ กรมชลประทาน และสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ไปดูแลแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำให้แล้ว ซึ่งก็กำชับให้ดุแลทุกพื้นที่ เพราะการทำการเกษตรน้ำจำเป็น แต่ขณะนี้ฝนไม่ตก แต่ทั้งนี้ขอร้องอย่าปิดถนน เพราะทุกคนจะเดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม รัฐต้องภาคร่วมทั้งหมดด้วย ทั้งการหาแหล่งน้ำเพิ่มในระดับมหภาคที่ต้องมีระบบชลประทานและระดับไร่นา ที่ต้องมีการทำบ่อบาดาลหรือทำหลุมขนมครกเป็นต้น

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เกษตรกรในพื้นที่เขต อ.แสวงหา และ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ประมาณ 300 คน ที่รวมตัวกันที่บริเวณ ปากคลองส่งน้ำ 5 ซ้าย -1 ขวา โครงการชัณสูตร เพื่อให้กรมชลประทาน ปล่อยน้ำให้ทำนาปีนั้น ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานในพื้นที่ พูดคุยและชี้แจงประชาชนในแนวทางการบริหารน้ำ เพื่อการทำนาปี 2563 และรายงานให้ทราบถึงปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยาใน 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีน้ำใช้การเพียง 778 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 4 และน้อยกว่าปี 2562 ถึง 1,048 ล้าน ลบ.ม. หลังการชุมนุมเมื่อประชาชนรับฟังการชี้แจงประมาณ 1 ชั่วโมงเกษตรกรพอใจและเดินทางกลับ

“สำหรับการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ชลประทานนั้น กรมไม่ได้นิ่งนอนใจได้วางแผนล่วงหน้าที่จะดูแลพื้นที่ปลูกข้าวโดยเฉพาะใน 2.6  ล้านไร่ที่ได้มีการปลูกไว้แล้ว โดยวางแผนระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ลงมาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาชัยนาทให้อยู่ที่ระดับ 13.45 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เพื่อยกระดับน้ำเข้าสู่แม่น้ำน้อยได้จากอัตรา 10 ลบ.ม.ต่อวินาทีเป็น 20 ลบ.ม.ต่อวินาที คลองชัยนาท-ป่าสักและแม่น้ำท่าจีนจะยังคงรับน้ำไว้ที่ 15 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งวันที่ 14 ก.ค. น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในระดับ 13.45 ม.รทก. ก็สามารถที่จะบริหารน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายและขวาได้ ในส่วนของพื้นที่การเกษตรอีก 5.4 ล้านไร่ที่ยังไม่ได้เพาะปลูก

กรมชลฯ ขอความร่วมมือให้เกษตรกรรอช่วงกลาง ก.ค. ที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว ซึ่งกรมชลฯยืนยันว่าต้องบริหารน้ำตามแผนที่วางไว้เพื่อสำรองไว้ในฤดูแล้งถัดไป” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในการเป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำผ่านระบบ VDO Conference รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยังสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศเมื่อ 13 ก.ค. 63 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศว่าในช่วงเดือน ส.ค. หรือ ก.ย. 2563 อาจจะมีพายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 1-2 ลูก บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักชลประทานทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แนวพายุเตรียมรับมือเพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกกรณี รวมถึงการดูแลตรวจสอบระบบชลประทานทางน้ำในการระบายด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ 13 ก.ค. 63 มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 31,838 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,365 ล้านลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 44,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,545 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 849 ล้านลบ.ม.

ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ (1พ.ค. – 30ต.ค.) ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 5,481 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,942ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 1,308 ล้าน ลบ.ม.ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.ค. 63) ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 6.97 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของแผนฯ (แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 2.62 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 32 ของแผนฯ (แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่)

……………………………………………………………….